กฎหมายเก็บเล็บไว้ให้น้อง (แมว) | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์
ข่าวการถอดเล็บแมว (Cat Declawing) ในประเทศเกาหลีใต้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นทาสแมว เหตุจากมีดาราเกาหลีชื่อดังได้นำแมวของตนไปผ่าตัดถอดเล็บออกจนหมด เพราะเกรงว่าแมวจะข่วนทำให้ใบหน้าเสียโฉมจนอาจกระทบต่องานที่ทำ
สัตวแพทย์ที่ออกมาเปิดเผยได้ให้ความเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการทารุณกรรมสัตว์ เนื่องจากการถอดเล็บแมวเป็นการสร้างความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแมวอย่างร้ายแรง
โดยธรรมชาติเล็บของแมวจะรวมอยู่กับข้อนิ้วสุดท้าย การถอดเล็บแมวจึงไม่ใช่การถอดหรือตัดเอาเล็บออกมาเท่านั้น แต่เป็นการผ่าตัดเอากระดูกข้อสุดท้ายของนิ้วแมวแต่ละนิ้วออก ซึ่งสามารถเทียบได้กับการตัดเอาข้อนิ้วบนสุดของนิ้วแต่ละนิ้วของมนุษย์ออก
การผ่าตัดนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อาการเลือดไหลไม่หยุดหรือการติดเชื้อ อีกทั้งการถอดเล็บแมวยังส่งผลให้ร่างกายของแมวเกิดความพิการอย่างถาวร
แมวที่ไม่มีเล็บนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บปวดที่อุ้งเท้า เส้นประสาทเสียหายและปวดหลัง เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่เดินด้วยนิ้วเท้า ดังนั้น การถอดเล็บจึงทำให้วิธีการเดินของแมวเปลี่ยนไป เกิดความไม่สมดุลในการเดิน และส่งผลให้มีอาการปวดเรื้อรังได้
ปัจจุบันมีอย่างน้อย 42 ประเทศที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และกำหนดให้การถอดเล็บแมวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ Prevention of Cruelty to Animals Act 1979 ของประเทศออสเตรเลีย ที่กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดทำการถอดเล็บของแมวออก
ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 12 เดือน หรือปรับสูงสุด 44,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มีการบัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นความผิด หากการถอดเล็บแมวนั้นได้กระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ซึ่งได้ดำเนินการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ Prevention of Cruelty to Animals Regulation 2012 ได้บัญญัติไว้
นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 รัฐแมริแลนด์ได้ออกกฎหมายห้ามถอดเล็บแมว (Animal Welfare - Declawing Cats - Prohibited Acts) ซึ่งถือเป็นรัฐที่สองของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการออกกฎหมายห้ามถอดเล็บแมว โดยมีวัตถุประสงค์ในการห้ามผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ทำการถอดเล็บแมว ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็น
ทั้งนี้ ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกฎหมายยังให้อำนาจคณะกรรมการสัตวแพทยสภาสามารถกำหนดโทษทางวินัยต่อผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ รวมไปถึงการพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ หากพบว่าสัตวแพทย์ผู้นั้นมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย
จะเห็นได้ว่าต่างประเทศให้ความสำคัญ ที่จะแก้ไขปัญหาการถอดเล็บแมวอย่างจริงจังและเป็นระบบ แต่สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายใดที่เข้ามาควบคุมการถอดเล็บแมวไว้เป็นการเฉพาะ
แม้แต่พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ที่เป็นกฎหมายแม่บทในการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์โดยตรงก็ยังไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความหมายของคำว่าทารุณกรรมไว้ในมาตรา 3 แต่ไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าการถอดเล็บแมวเป็นการทารุณกรรม และมาตรา 20 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ก็มิได้กำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า การกระทำใดเป็นการกระทำโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่สมควร
อีกทั้งยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลที่วางบรรทัดฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ จึงอาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความและการบังคับใช้กฏหมาย และเกิดความเข้าใจผิดว่าการถอดเล็บแมวเป็นเรื่องที่สามรถทำได้
ดัวยเหตุนี้ เพื่อให้กฎหมายของประเทศไทยมีความชัดเจน สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างถูกต้องให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแมว สัตวแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยกำหนดให้การถอดเล็บแมวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
แต่ให้มีข้อยกเว้นในกรณีจำเป็นที่ต้องรักษาอาการเจ็บป่วยของแมว เช่น การติดเชื้อที่เล็บของแมว หรือในกรณีที่บุคคลในบ้านที่ได้รับการรับรองจากแพทย์แล้วว่ามีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและการข่วนของแมวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
นอกจากนี้ ควรเพิ่มบทลงโทษสำหรับสัตวแพทย์ที่ทำการฝ่าฝืนให้รับโทษหนักขึ้น โดยให้มีความรับผิดทางแพ่งหรือกำหนดโทษปรับในอัตราที่สูง เพราะสัตวแพทย์ย่อมทราบดีว่าการถอดเล็บแมวส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของแมวอย่างร้ายแรง และควรกำหนดให้มีการดำเนินการทางวินัยอย่างจริงจัง โดยการพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ด้วย
สุดท้ายนี้ นอกจากการเพิ่มเติมแก้ไขกฎหมายและการเพิ่มบทลงโทษแล้ว ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาการถอดเล็บแมว เนื่องจากผู้ให้เช่าเกรงว่าแมวของผู้เช่าจะใช้เล็บสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ให้เช่า
จึงมีการกำหนดให้การถอดเล็บแมวเป็นเงื่อนไขในการเข้าทำสัญญา หรือให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หากผู้เช่าผิดเงื่อนไขไม่ทำการถอดเล็บแมว ซึ่งอาจทำให้ผู้เช่านำแมวไปถอดเล็บเพื่อเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา
ดังนั้น ควรมีมาตรการควบคุมทางสัญญาสำหรับธุรกิจประเภทนี้ โดยห้ามมิให้ผู้ให้เช่ากำหนดเงื่อนไขใด ๆ เกี่ยวกับการถอดเล็บแมวไว้ในสัญญาเช่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการถอดเล็บแมวที่อาจจะเกิดขึ้นในบริบทของธุรกิจให้เช่าที่อยู่อาศัยด้วย.
คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
อาจารย์พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และ กานพลู งานสม
นักวิชาการอิสระ