กรอ. คุมเข้มซื้อสาร 'ไซยาไนด์' ต้องลงทะเบียนแจ้งเหตุผลใช้ - สกัดขายออนไลน์

กรอ. คุมเข้มซื้อสาร 'ไซยาไนด์' ต้องลงทะเบียนแจ้งเหตุผลใช้ - สกัดขายออนไลน์

สืบเนื่องจากกรณี 'แอม ไซยาไนด์' กรอ. คุมเข้มซื้อสาร 'ไซยาไนด์' ต้องลงทะเบียนแจ้งจุดประสงค์การใช้ - สกัดขายออนไลน์

สืบเนื่องจากกรณี 'แอม ไซยาไนด์' วันนี้ (5 พฤษภาคม 2566) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ได้หารือร่วมกับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงแนวทางการควบคุมการใช้สาร 'ไซยาไนด์' ให้ถึงกลุ่มผู้ใช้รายย่อยว่านำไปทำอะไร เพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้ร้านค้าปลีกรายใด ครอบครองสารเคมีอันตรายเกิน 100 กิโลกรัม ภายใน 6 เดือน จะต้องรายงานมายังกรมโรงงานฯ

 

 

ซึ่งต่อจากนี้อาจจะให้ร้านค้าปลีกทุกรายที่จำหน่ายสาร โซเดียมไซยาไนด์ , โพแทสเซียมไซยาไนด์ ให้ผู้ซื้อรายย่อยรายใด จะต้องมีการลงทะเบียนคล้ายกับซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ โดยจะให้ระบุว่า นำไปใช้เพื่ออะไร? อาทิ นำไปในร้านชุบเงินชุบทอง หรือใช้ในห้องแล็บ หากหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าจะประกาศเงื่อนไขการใช้สารไซยาไนด์ภายในสัปดาห์หน้า

 

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเทศไทยผลิตสารไซยาไนด์เองไม่ได้ ต้องนำเข้าเท่านั้น ปัจจุบันมีผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ จำนวน 14 ราย ถ้ามาตรการเพิ่มเติมผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วก็จะแจ้งผู้นำเข้าทั้งหมด โดยการกำหนดเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ที่ซื้อต่อจากผู้นำเข้าทุกราย ทั้งโรงงาน , ร้านค้าปลีก , ผู้ใช้รายย่อย ต้องปฏิบัติตามแนวทางใหม่ เรื่องการควบคุมดูแลการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์

 

 

อย่างไรก็ตามก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้นำเข้าและผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกต้องด้วย โดยปัจจุบันสารไซยาไนด์มี 2 ประเภทที่ กรอ.ควบคุมอยู่ คือ โซเดียมไซยาไนด์ และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีไว้ใช้ในงานอุตสาหกรรม อาทิ การสกัดแร่ การชุบโลหะ ชุบทอง-เงิน หรือใช้ในห้องแล็บ ส่วนที่เป็นข่าวตอนนี้เป็นการนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เป็นไปไปตามวัตถุประสงค์

 

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้หารือเบื้องต้นกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แล้วว่าอาจจะขอความร่วมมือไม่นำสารไซยาไนด์ไปขายบนช่องทางออนไลน์ บนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสารอันตราย ไม่ควรหาซื้อได้ง่าย