กรมโรงงานฯ จ่อเอาผิด 'แอม - ไอซ์ ปรีชญา' ฐานใช้ 'ไซยาไนด์' ผิดวัตถุประสงค์

กรมโรงงานฯ จ่อเอาผิด 'แอม - ไอซ์ ปรีชญา' ฐานใช้ 'ไซยาไนด์' ผิดวัตถุประสงค์

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมแจ้งความ "แอม ไซยาไนด์" และ "ไอซ์ ปรีชญา" ฐานใช้สารไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์ ย้ำ กรมโรงงานฯ ไม่บกพร่อง ดูแลเพียงการอนุญาตนำเข้า

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 จากคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ด้วยการวางยาไซยาไนด์ของ “แอม ไซยาไนด์” หรือ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 คน กระทั่งมีการขยายผลการสอบสวนถึงที่มาของ ไซยาไนด์ กระทั่งปรากฎชื่อของ “ไอซ์ ปรีชญา” เป็นหนึ่งในผู้สั่งซื้อล็อตเดียวกับ “แอม” และได้เข้าให้ปากคำตำรวจในฐานะพยาน 

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมร่วมกับชุดคลี่คลายคดี พร้อมทั้งเรียก กรมโรงงานอุตสาหกรรม นำโดยนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมเจ้าหน้าที่กรมโรงงาน มาให้ข้อมูลหลังจากช่วงสัปดาห์ก่อน ตำรวจร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบโรงงานที่ผู้ต้องหาสั่งซื้อไซยาไนด์มาก่อเหตุ และตรวจพบว่ามีการจำหน่ายต่อไปให้กับผู้ซื้อกว่า 100 ราย ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้ 

กรมโรงงานฯ จ่อเอาผิด \'แอม - ไอซ์ ปรีชญา\' ฐานใช้ \'ไซยาไนด์\' ผิดวัตถุประสงค์
 

ล่าสุด นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับตำรวจว่า การประชุมร่วมกับคณะทำงานของตำรวจในคดี “แอม ไซยาไนด์” วันนี้ ทางกรมโรงงานได้ชี้แจงแนวทางการควบคุมการนำเข้าสารไซยาไนด์ ที่กรมต้องควบคุมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ คือ ขอนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและงานศึกษาวิจัยเท่านั้น และยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กรมโรงงาน ไม่มีความบกพร่องในเรื่องดังกล่าว

หลังจากนี้กรมโรงงาน จะต้องเพิ่มเงื่อนไขการนำเข้าท้ายใบอนุญาตให้ความเข้มงวดยิ่งขึ้น  เช่น ผู้ขออนุญาตต้องแจ้งรายชื่อผู้ที่ต้องการใช้สารไซยาไนด์ พร้อมจะต้องขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในตรวจสอบการโฆษณาขายสินค้าเหล่านี้ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยว่าผิด พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตรายฯ หรือไม่
 

ทั้งนี้  ในปัจจุบันมีบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าสารไซยาไนด์ทั้งหมด 14 ราย รวมปริมาณนำเข้าประมาณ 80 ตันต่อปี มีผู้ใช้งานรายย่อยประมาณ 2,000 ราย ซึ่งบริษัทที่นำเข้าจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้งานของผู้ซื้อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยกรณีที่ “แอม ไซยาไนด์” นำไปใช้วางยาฆาตกรรม และ “ไอซ์ ปรีชญา” นำไปใช้ฆ่าสัตว์เลื้อยคลานนั้น ถือเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ทั้งคู่

หลังจากนี้ กรมโรงงานในฐานะผู้เสียหายจะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยกรณีดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ต้องขออนุญาตครอบครองนั้น มีกำหนดว่าหากใช้เกิน 100 กก. ในรอบ 6 เดือนจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์การนำไปใช้กับกรมโรงงานด้วย โดยตำรวจและกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นผู้สืบสวนติดตามการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ต่อไป