ตุ๋นเล่น 'แชร์แม่มณี' ติดคุกอ่วม! 12,640 ปี แม่มณี-สามี เสียหาย 1,300 ล้าน

ตุ๋นเล่น 'แชร์แม่มณี' ติดคุกอ่วม! 12,640 ปี  แม่มณี-สามี เสียหาย 1,300 ล้าน

ฉ้อโกง 'แชร์แม่มณี' เสียหายกว่า 1,300 ล้าน แม่มณี-สามี ติดคุกอ่วม! 12,640 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 5,056 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกจริง 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-9 ยกฟ้อง

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาพิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี 'แชร์แม่มณี' หมายเลขดำ อ.167/2563 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง (จำเลยที่ 1) น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือ เดียร์ , นายเมธี ชิณภา หรือ บอส สองสามีภรรยา , นายปิยะ หรือ เป้ , น.ส.พรสวรรค์ หรือ ฝ้าย , น.ส.ธวัลรัตน์ ทิพย์ประเวช (มารดาของ น.ส.วันทนีย์) จำเลยที่ 1 , น.ส.วิไลวรรณ หรือ มิ้น , น.ส.นิตยา หรือ โบว์ , นายบริภัทร (ได้ประกัน) และนายปิยะเศรษฐ์ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยจำเลยที่ 1-2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยอื่นให้การปฏิเสธ

 

 

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 9 มีนาคม 2562 - 30 ตุลาคม 2563 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง 9 ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระโดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เจตนาทุจริตหรือโดยการหลอกลวงได้บังอาจร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเฟซบุ๊ก

ประกาศให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมออมเงินหรือร่วมลงทุนกับจำเลย โดยจะได้ผลตอบแทนมากกว่าปรกติเป็นพิเศษ โดยมีแผนการตลาดหรือรูปแบบการลงทุนจัดแบ่งออกเป็นวง จำนวนการลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาทต่อหนึ่งวง เมื่อครบกำหนด 9 เดือน นับ แต่วันที่ลงทุนหรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่แจ้ง โดยผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงละ 1,930 บาท

 

ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก ได้เปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะสั้นอีกหลายระบบหลายครั้งซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนเป็นเท็จ ความจริง แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวก ไม่ได้จัดให้มีการออมเงินหรือร่วมลงทุนโดยได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นอุบายให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวงเท่านั้น จนเกิดความเสียหายแก่ประชาชน จำนวน 2,533 ราย รวมทั้งสิ้น 1,376,215,359 บาท โดยให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ตั้งแต่อัตราร้อยละ 1,116 ถึงร้อยละ 3,040.45 ต่อปี อันเป็นเท็จ

 

 

ซึ่งการกู้ยืมเงินตามกฎหมาย ดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปีเท่านั้น โดยพวกจำเลยนำเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต และเป็นการกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเกิน 10 คน ซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน การกระทำของจำเลยทั้ง 9 เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ เหตุเกิดที่ทุกแขวงและเขต จังหวัดกรุงเทพมหานคร ทุกตำบลและอำเภอ จังหวัดอื่นๆ เกี่ยวพันกัน

 

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันมีพฤติการณ์โฆษณาหลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายจำนวนมากให้มาร่วมลงทุน โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ 3-9 เป็นลูกจ้างของจำเลย ไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิด จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องจริง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 2,528 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 12,640 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 5,056 ปี 15,168 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายคงจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี จึงจำคุกจำเลยที่ 1-2 ไว้คนละ 20 ปี และให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 3-9 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะลงโทษจำเลยได้ จึงพิพากษายกฟ้อง