กอนช. ประเมินเตรียมเข้าสู่ฤดูฝน วางแผนระยะยาวกักเก็บน้ำรับมือเอลนีโญ
กอนช. ประเมินสถานการณ์น้ำเตรียมเข้าสู่ฤดูฝน แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ พร้อมวางแผนระยะยาวกักเก็บน้ำให้มากที่สุดรับมือเอลนีโญ
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ครั้งที่ 2/2566 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร การประปานครหลวง เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ในวันนี้เป็นการหารือร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำของปี 66 ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. 66 โดยจากการติดตามปรากฎการณ์เอนโซ (ENSO) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ พบว่า มีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ตั้งแต่ เดือน มิ.ย. 66 เป็นต้นไป ดังนั้นปริมาณฝนในปีนี้จึงมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าปกติหรือน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย และคาดว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณช่วงเดือน มิ.ย. 66 เดือน ก.ค. 66 และมีฝนน้อยกว่าค่าปกติในช่วงเดือน ก.ย. 66 จึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หากมีปริมาณฝนน้อย ซึ่งจะต้องเป็นการวางแผนระยะยาว โดยใช้หลักการบริหาร 2 ปี คือตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้มีปริมาณน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งมากที่สุด
“การประชุมในวันนี้ได้เน้นย้ำในเรื่องของการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ โดยให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้ค่าฝนน้อยมาประเมินเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง สำหรับสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 66 ได้ 1 รอบเท่านั้น โดยภายหลังเสร็จสิ้นการเพาะปลูกในรอบแรกแล้ว จะต้องรณรงค์ในเรื่องของการประหยัดน้ำและส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยจะไม่มีการปลูกข้าวรอบ 2 เนื่องจากคาดการณ์ว่าสภาวะเอลนีโญ อาจจะเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องไปประมาณ 2-3 ปี ซึ่งจะต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนประสานงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดในการวางแผนการเพาะปลูก เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและบริหารจัดการน้ำร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะมีการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมเต็มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตรของประชาชนด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันมีการก่อตัวของพายุดีเปรสชั่นในพื้นที่อ่าวเบงกอล ซึ่งมีแนวโน้มพัฒนาเป็นพายุไซโคลนและเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณตอนกลางของประเทศเมียนมา ในช่วงวันที่ 13 พ.ค. 66 โดยจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่อาจส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก โดย กอนช. ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ แต่ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำสำหรับรองรับสถานการณ์ในช่วงฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงฤดูฝนปีนี้มีแนวโน้มของการเกิดพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก จึงอาจส่งผลให้บางพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตาม 12 มาตรการรองรับฤดูฝนปี 66 เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่ฝนทิ้งช่วง การเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และหากมีความจำเป็น จะมีการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าเพื่อบัญชาการในพื้นที่เสี่ยง เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาด้วย