พัฒนาอุตฯยางพาราสู่มาตรฐาน ดันสถาบันเกษตรกรสู่ผู้ส่งออกรายใหม่
กยท. - จีน จับมือพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราสู่มาตรฐาน ผลักดันสถาบันเกษตรกรก้าวสู่ผู้ส่งออกรายใหม่ มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางทั้งระบบ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กยท.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านธุรกิจยางพาราและไม้ยางพารากับ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C.) และสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน (SMEs ASEAN) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน เนื่องจากในปัจจุบันประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากประเทศไทยมากกว่า 70%
รวมทั้งไม้ยางพาราอีกกว่า 90% ของปริมาณการส่งออก ได้ให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐานและการตรวจรับรองก่อนกระบวนการผลิต เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคทั้งระบบ ดังนั้นเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพาราและไม้ยางพาราของไทยจะต้องเร่งพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้รับการรับรองมาตรฐานสามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้
ดังนั้น ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพารา ที่จะพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางได้รับการรับรอง ลดความเสี่ยงจากการเสียหาย ไม่ถูกตีกลับ และแก้ปัญหายางปลอมแปลงจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า เพิ่มความเข้มแข็งและสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ยางพาราของไทยมากขึ้น พร้อมก้าวสู่การเป็นประเทศผู้นำการผลิตยางที่ได้มาตรฐานของโลก ซึ่งจะเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราและไม้ยางพาราของไทยทั้งระบบอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้ กยท. สนับสนุนและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร โดยคัดเลือกจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ที่พร้อมพัฒนาตนเองสู่การอบรมตามมาตรฐาน เพื่อให้เข้าใจถึงกฎและข้อกำหนดของการรับรองระบบการจัดการในประเทศจีน พร้อมทั้งส่งเสริมระบบมาตรฐาน การตรวจสอบรับรอง การลงทุนทางการค้าและพัฒนาระบบตลาด โดยทั้ง 3 ฝ่ายจะบูรณาการร่วมกับขับเคลื่อน 4 โครงการหลักคือ
1.โครงการเพื่อรับรองระบบการจัดการ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาทางธุรกิจให้เป็นไปตามกฎและข้อกำหนดของการรับรองระบบการจัดการในประเทศจีน
2.โครงการเพื่อการรับรองกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์จากยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อเพิ่มความนิยมและความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราจากประเทศไทย ผ่านการใช้ "ฉลาก QR ร่วม” ซึ่งเป็นการนำสัญลักษณ์ของ 3 องค์กรมาใช้ประกอบในสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงการบูรณาการร่วมกันให้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ มีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้ใช้ยางในประชาคมโลก
3.โครงการเพื่อตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางและยืนยันคุณภาพสินค้า
และ 4.โครงการเพื่อการตรวจสอบซัพพลายเออร์ โดยตรวจสอบและช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ให้ได้รับใบรับรองซัพพลายเออร์อย่างถูกต้อง
Mr.Liu Hua Lyu กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า C.C.I.C เป็นองค์กรของจีนที่ดำเนินงานในเรื่องการตรวจสอบ ประเมิน และให้การรับรองสินค้าที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศจีนและระดับสากล ซึ่งข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ C.C.I.C จะให้ความรู้และฝึกอบรมการรับรองระบบให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยาง ได้เข้าใจถึงกฎ ข้อกำหนด และระบบการจัดการในประเทศจีน พร้อมทั้งจะสร้างแพลทฟอร์มสำหรับโครงการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา และให้บริการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาสำหรับผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทย รวมถึงจัดทำแผนสำหรับกระบวนการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ
นอกจากนี้ C.C.I.C ยังพร้อมอำนวยความสะดวกในการสื่อสารในกระบวนการและกฎระเบียบของการรับรองและตรวจสอบซัพพลายเออร์ และช่วย กยท. ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐบาลจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรฐานของยางพารา และให้บริการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกโดยออกเอกสารรายงานการตรวจสอบที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคู่ค้า ทั้งนี้พร้อมส่งเสริมและจะเพิ่มการรับรู้ผลิตภัณฑ์ยางไทยในตลาดและกลุ่มผู้นำเข้าของจีนต่อไป
ทางด้าน Mr.Jacky Saechen นายกสมาคม SMEs ASEAN กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา เป็นสินค้าที่ประเทศจีนนำเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก ทางสมาคมจะดำเนินการประสานงานในเบื้องต้นโดยเลือกกลุ่มตลาดเป้าหมายในประเทศจีน แนะนำผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราของไทย พร้อมตรวจสอบพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบกิจการในจีนที่มีความสนใจซื้อสินค้าไทย ส่งเสริมการลงทุนทางการค้าและระบบการค้าขายระหว่างประเทศเพื่อสร้างมาตรฐานระยะยาว รวมถึงพัฒนาโมเดลระบบตลาดให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสากล ขยายขอบเขตทางธุรกิจทั้งในประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
“กยท. พยายามผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มุ่งพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้รับการรับรอง สามารถส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับสถาบันเกษตรกรที่พร้อมก้าวสู่บทบาทผู้ส่งออกยางรายใหม่ ที่สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีนและตลาดในแถบภูมิภาคอื่นๆ ดึงความเชื่อมั่นให้ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลก ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของไทย” ผู้ว่าการ กยท. กล่าวในตอนท้าย