วสท. สรุปสาเหตุ 'ทางเลื่อน' สนามบินดอนเมือง ดูดขาขาด พร้อมเตือนปชช. 4 ข้อ
วสท. สรุปสาเหตุ 'ทางเลื่อน' สนามบินดอนเมือง ดูดขาขาด พร้อมเตือนประชาชน 4 ข้อหากต้องใช้ทางเลื่อน - บันไดเลื่อน
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้โดยสารได้รับ 'อุบัติเหตุ' ขาหลุดเข้าไปติด 'ทางเลื่อน' บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4 - 5 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 'สนามบินดอนเมือง' ว่า
จากการลงตรวจสอบ 'ทางเลื่อน' ดังกล่าว พบว่าตอนนี้ทุกอย่างถูกประกอบกลับไปที่เดิมแล้ว แต่ยังเห็นร่องรอยของซี่หวี หรือขอบทางสีเหลืองบริเวณสิ้นสุดทางเลื่อนแตกหักเป็นลักษณะคล้ายรูปโค้งของวงกลม ดังนั้นการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวจึงสันนิษฐานเป็นลำดับได้ว่า อาจเกิดจากการที่มีวัสดุตกหล่นไปขัดอยู่บริเวณปลายหวี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ล้อกระเป๋าเดินทางไปติดอยู่ที่ปลายหวีนั้นด้วย
เมื่อล้อของกระเป๋าเดินทางไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้ จึงเกิดการขัดตัวจนกระทั่งปลายหวีแตกหักและหลุดเข้าไปในระบบทางเลื่อนอัตโนมัติ เป็นเหตุให้ไปง้างแผ่นพื้นทางเลื่อนให้เกิดการกระดกจนน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด ซึ่งในที่เกิดเหตุพบว่าน็อตหายไป 3 ตัว ทำให้มีช่องว่างกว้างเพียงพอที่จะทำให้ขาของผู้บาดเจ็บที่กำลังก้าวนั้นหล่นลงไปในช่องว่างในขณะที่ทางเลื่อนยังทำงานตามปกติ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดดังกล่าวขึ้น
นายบุญพงษ์ เผยต่อว่า ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าจากข้อมูลของการบำรุงรักษาซึ่งมีการตรวจความปลอดภัย (QA) ของระบบ 'บันไดเลื่อน' ทั้งหมด รวมถึง 'ทางเลื่อนอัตโนมัติ' ได้รับรองความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ไว้แล้ว นอกจากนี้ในการใช้งานเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาจะต้องตรวจสอบการทำงานของระบบก่อนการเปิดใช้งานทุกวัน ซึ่งในวันเกิดเหตุคือวันที่ 29 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการตรวจสอบก่อนใช้งาน และไม่พบเหตุที่ทำให้ระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติมีการทำงานที่ผิดปกติ และในวันเกิดเหตุเป็นการหยุดโดยระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งใช้เวลาในการหยุดการทำงานของทางเลื่อนประมาณ 20 วินาที และไม่ได้เกิดจากการกดหยุดโดยคน
ความแตกต่างของ 'ทางเลื่อน' และ 'บันไดเลื่อน' ซึ่งการทำงานและอุปกรณ์ของทั้งสองอุปกรณ์นี้คล้ายกัน มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน 2 เรื่อง คือ มุมที่วัดจากแนวระนาบสำหรับทางเลื่อนอัตโนมัติจะไม่เกิน 11 องศา เพื่อให้แผ่นพื้นเรียบ หากมุมจากแนวระนาบเกินกว่านี้จะต้องทำแผ่นพื้นให้เป็นขั้นบันไดเลื่อน และข้อแตกต่างของการรับน้ำหนัก ซึ่งทางเลื่อนอัตโนมัติ 1 แผ่นพื้น สามารถรับน้ำหนักได้ 160 กิโลกรัม ขณะที่บันไดเลื่อนจะออกแบบให้รับน้ำหนักที่ 75 กิโลกรัมต่อคน น้ำหนักที่ใช้ในการออกแบบดังกล่าวมีความสำคัญในการออกแบบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของทั้งระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล EN115
ทั้งนี้ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ยังได้แนะนำ 4 ข้อในการใช้ 'ทางเลื่อน' และ 'บันไดเลื่อน' ดังนี้
- ระหว่างการใช้งานทางเลื่อน - บันไดเลื่อนต้องมีสติ อย่าว่อกแว่ก
- งดหรือหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์สื่อสารระหว่างใช้บันไดเลื่อน - ทางเลื่อน
- ควรจับราวบันไดไว้ตลอด เพราะการจับจะสามารถป้องกันความรุนแรงของเหตุที่จะเกิดได้ดีกว่าไม่จับ
- หากพบเสียงดังผิดปกติให้หลีกเลี่ยงการใช้ทางเลื่อน - บันไดเลื่อนไปก่อนเพื่อความปลอดภัย