กทม. เร่งเก็บกู้ซากสะพานลาดกระบังถล่ม คาดแล้วเสร็จใน 3 วัน

กทม. เร่งเก็บกู้ซากสะพานลาดกระบังถล่ม คาดแล้วเสร็จใน 3 วัน

รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยัน ตอม่อสะพานที่ถล่มมีความแข็งแรง เผย รื้อถอนโครงสร้างสะพานข้ามแยกได้แล้ว 5 ชิ้น เหลืออีก 9 ชิ้น คาดเปิดการจราจรได้ใน 3 วัน

วันนี้ (11 ก.ค. 66) รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถล่มลงมากีดขวางการจราจร ทับรถและประชาชนจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอีกครั้ง พร้อมหารือแผนการดำเนินการกู้ซากสะพานถล่มว่า เบื้องต้นมีการตัดลอนเชอร์ 14 ชิ้น โดยแบ่งเป็น 10 ชิ้นขนาดใหญ่ ชิ้นละ 30 ตัน ชิ้นเล็กขนาด 10 ตัน 4 ชิ้น ตอนนี้ได้ขนชิ้นเล็ก 2 ชิ้น ชิ้นใหญ่ 1 ชิ้นแล้ว และที่กำลังนำออกคือ 1 ชิ้นเล็ก 1 ชิ้นใหญ่ สรุปวันนี้อย่างน้อย 5 ชิ้นที่กำลังจะออก และช่วงคืนนี้จะมีการผลัดเปลี่ยนกำลัง เพราะชุดที่ทำงานอยู่นั้นเหนื่อยล้า โดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก และกำลังสั่งการทีมงานชุดใหม่จากต่างจังหวัดให้เข้าใจสถานการณ์ในตอนนี้

รศ.ดร.วิศณุ กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายลอนเชอร์ต้องนำชิ้นที่นำออกได้ง่ายออกก่อน และค่อยขยับเครนเข้าไปในจุดสามารถทำงานได้ เนื่องจากพื้นที่หน้างานค่อนข้างคับแคบ รวมถึงพื้นที่เครนค่อนข้างจำกัด และในช่วงที่มีการขนออกจำเป็นต้องปิดการจราจรทั้งหมด เพราะต้องนำรถเทรลเลอร์มาขน จึงกระทบการจราจรเป็นช่วงๆ

สำหรับการประเมินลอนเชอร์ที่เหลือ 9 ชิ้น คาดว่าจะเคลื่อนย้ายให้แล้วเสร็จใน 3 วัน ก่อนจะเปิดการจราจร อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้บางส่วนในวันศุกร์นี้ (14 ก.ค.) ส่วนโครงสร้างสะพานที่ชำรุดเสียหายบางส่วน เช่น เสาตอม่อ 2 เสา แผ่นปูน จะใช้เวลาเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ใน 7 วัน

วันนี้หากมีการยกลอนเชอร์ออกไปก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายภาพเก็บหลักฐาน ทั้งนี้ พรุ่งนี้เช้า (12 ก.ค.) วสท. และตำรวจ จะลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้าง สำหรับรถที่ติดอยู่นั้นมีการนำออกมาแล้ว 1 คัน และบางส่วนยังอยู่ในพื้นที่ ไม่ได้เคลื่อนย้ายออก ต้องเคลื่อนย้ายลอนเชอร์ออกก่อนจึงจะนำรถออกมาได้
 

ส่วน วสท. ที่จะลงพื้นที่วันพรุ่งนี้จะตรวจสอบโดยการใช้โดรนเรดาร์ขึ้นบินสแกนพื้นที่เพื่อเก็บภาพระยะรอบๆ ทั้งหมด และจะมีทีมเดินดูด้วยสายตาว่าจุดไหนที่สันนิษฐานว่ามีปัญหาเป็นพิเศษ สำหรับการทุบสะพานหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาโดยรวมอีกครั้ง ซึ่งเสาทุกเสามีความแข็งแรงดี แต่ส่วนที่พังต้องทุบต่อ และต้องวิเคราะห์สาเหตุให้แน่ชัดก่อนว่าเกิดจากอะไร

สิ่งที่ต้องคิดก่อนคือการรื้อถอนตัวโครงสร้างที่ค้างค่อนข้างที่จะใหญ่ และต้องมีการคลายสลิงเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ข้างเคียง ส่วนการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวว่า ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายมีการบ้านเช่าให้แล้ว ทางผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังกู้ซากลอนเชอร์ส่วนที่ทับรถยนต์เสียหาย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล วิดีโอคอลผ่านนายชุมพล หลักคำ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตลาดกระบัง พรรคก้าวไกล พร้อมขอพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ โดยนายพิธาสอบถามว่าได้พักหรือยัง พร้อมให้กำลังใจในการทำงาน

ขณะที่นายชุมพล บอกว่า นายพิธาเพิ่งไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลลาดกระบัง เมื่อประมาณ 16.00 น.ที่ผ่านมา จึงไม่ได้เดินทางมาที่นี่ เลยวิดีโอคอลมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ รวมถึงสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงาน โดยยังได้ฝากถึงผู้ได้รับผลกระทบว่าไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ได้รับการเยียวยา ยืนยันว่าจะดูแลอย่างเต็มที่