เตือน ปชช. อาศัยติดกับ 'เขตพื้นที่ป่าเขา' ระมัดระวัง 'โรคไข้มาลาเรีย'
เตือนประชาชนอาศัยติดกับ "เขตพื้นที่ป่าเขา" ระมัดระวัง "โรคไข้มาลาเรีย" หลังพบจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่ม พบมากสุด จ.ตาก 5,513 ราย
จากรายงานสถานการณ์ “โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย” ในระบบมาลาเรียออนไลน์ของกรมควบคุมโรค (1 ม.ค. 66 – 7 ก.ค. 66) พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 9,255 ราย (คนไทย 4,158 ราย และ ต่างชาติ 5,097 ราย)
พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากตามลำดับ
- จ.ตาก 5,513 ราย
- จ.แม่ฮ่องสอน 1,026 ราย
- จ.กาญจนบุรี 945 ราย
ทั้งนี้ โรคไข้มาลาเรียเกิดจาก “เชื้อพลาสโมเดียม” โดยมียุงก้นปล่องที่มักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามพื้นที่ป่าเขา รวมถึงพื้นที่แถบชายแดน มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
สำหรับอาการของโรค/การรักษา
- หลังจากผู้ป่วยถูกยุงก้นปล่องตัวเมียกัด ประมาณ 10 - 14 วัน จะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะเป็นพัก ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร
- กรณีพบแพทย์ทัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาในเวลาไม่นาน
- กรณีพบแพทย์ช้า ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เช่น เกษตรกรที่มีไร่มีสวนติดกับเขตพื้นที่ป่าเขา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดน รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่า ควรเฝ้าสังเกตอาการ หากมีอาการตามข้างต้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา และเมื่อกินยาครบตามแพทย์สั่งแล้ว ต้องตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัดอีกครั้ง