'พยากรณ์ฝนสะสม' เตือนทุกภาคมีฝนเพิ่มขึ้น และตกหนักบางแห่ง 20-24 ก.ค.66
'พยากรณ์ฝนสะสม' รายวัน เตือนทุกภาคมีฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักบางแห่ง ช่วงวันที่ 20-24 ก.ค.66 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ทะเลคลื่นสูง 3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
กรมอุตุนิยมวิทยา 'พยากรณ์ฝนสะสม' นับตั้งแต่ 07.00 น.วันนี้ ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 20 - 29 กรกฎาคม 2566 อัปเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF)
ช่วงวันที่ 20 - 24 กรกฎาคม 2566 เป็นช่วงที่ทั่วทุกภาคของไทยจะมีฝนกระจายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้
ทั้งนี้ เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุม ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (ชายฝั่งประเทศเวียดนาม) คลื่นลมในทะเลทั้ง 2 ฝั่งมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงตลอดสัปดาห์ ชาวเรือ ชาวประมงเดินเรือ ต้องระวัง 20 - 24 กรกฎาคม 2566 เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ช่วง 25 - 29 กรกฎาคม 2566 ไทยตอนบนฝนน้อยลง และติดตามการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ตอนบน อย่างใกล้ชิด
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (20 กรกฎาคม 2566) ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย
'พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า' ในช่วงวันที่ 21 - 26 กรกฎาคม 2566 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ตลอดช่วง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ข้อควรระวัง : ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง
สถานการณ์แผ่นดินไหว ในช่วง 19 - 20 กรกฎาคม 2566 ตรวจพบเหตุการณ์ 'แผ่นดินไหว' ดังนี้
- ขนาด 2.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา
- ขนาด 4.0 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเวียดนาม
ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด