พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า 23 ก.ค.-1 ส.ค. 66 ไทยฝนตกกระจาย - ฝนตกหนัก
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า 23 ก.ค.-1 ส.ค. 66 เตือนภาคอีสาน - กลาง - ตะวันออก - ใต้ - กทม.และปริมณฑล มีฝนตกหนักบางแห่ง ขณะที่ 5 จังหวัดด้านรับมรสุมเฝ้าระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 23 ก.ค.-1 ส.ค. 66 (ทุกๆ 24 ชม.:(นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) อัปเดต 2023072212 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) :
ช่วง 23 -25 ก.ค.66 ฝนตกกระจายต่อเนื่องใกล้แนวร่องมรสุม บริเวณ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน กทม.และปริมณฑล มีฝนตกหนักบางแห่ง ด้านรับมรสุมบริเวณภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี และตราด) และภาคใต้ (ระนอง พังงา ภูเก็ต) ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้
ทั้งนี้ เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุม ส่วนร่องมรสุมยังคงพาดผ่านประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (ชายฝั่งประเทศเวียดนาม)
คลื่นลมในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงตลอดสัปดาห์ ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ในระยะนี้
ช่วง 26 - 27 ก.ค. 66 ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนฝนน้อยลงบ้าง เนื่องจากมีพายุเคลื่อนเข้าเกาะไต้หวัน จึงดึงดูดเอาความชื้นไป แต่ด้านรับมรสุมยังมีฝนและคลื่นลมแรงขึ้นต้องระวัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนพายุโซนร้อน "ทกซูรี (DOKSURI)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (ตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ช่วง 26-28 ก.ค.66 พายุนี้ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจึงไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น 29 ก.ค. - 1 ส.ค.66 หลังจากพายุสลายตัวไปแล้ว ฝนจะเริ่มกลับมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
สำหรับ พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 23 - 25 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรงตลอดช่วง ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อนึ่ง พายุโซนร้อน "ทกซูรี" บริเวณด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 25 – 26 ก.ค. 2566 หลังจากนั้นจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 27 - 28 ก.ค. 2566
ข้อควรระวัง: ในช่วงวันที่ 23 - 25 ก.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองสำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 24 - 28 ก.ค. 66
สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (22 -23 ก.ค. 66) ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว
- ขนาด 2.6 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา
- ขนาด 4.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเวียดนาม
- ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด