แนะวิธีเช็กใบสั่งค้างชำระด้วยตัวเอง ย้ำใบสั่งค้างจ่ายเสี่ยงไม่ได้ป้ายภาษี
รองโฆษก ตร.แนะวิธีเช็กใบสั่งจราจรด้วยตัวเอง พร้อมย้ำแจ้งเตือนมาตรการงดออกเครื่องหมายแสดงภาษีสำหรับผู้มีใบสั่งค้างชำระ อย่าปล่อยให้มีใบสั่งค้างจ่าย
วันนี้ (13 ส.ค. 66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.ท. ธ เทพ ไชยชาญบุตร รองโฆษก ตร. กล่าวเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ได้รับใบสั่งให้เสียค่าปรับจราจรอย่าปล่อยให้ค้างชำระ มิฉะนั้นจะมิได้รับเครื่องหมายแสดงภาษี และหากฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับเพิ่มเติมในอัตราค่าปรับที่สูงอีกด้วย
รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ตามมาตรการ “เสริมสร้างวินัยจราจรลดการกระทำผิดซ้ำเพื่อลดอุบัติเหตุ” ของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ที่ได้เริ่มต้นการรณรงค์และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการตาม ม. 141/1 ของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้น บัดนี้มีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบกแล้ว และมีผลต่อผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะที่ฝ่าฝืนกฎจราจรให้ไม่ได้รับความสะดวกในการรับเครื่องหมายการแสดงการชำระภาษีประจำปี และเป็นเหตุให้ต้องได้รับโทษปรับในการใช้ยานพาหนะที่มิได้แสดงป้ายการเสียภาษีในอัตราที่สูงอีกด้วย
พ.ต.ท. ธ เทพ กล่าวว่า ใบสั่งที่ผู้ขับขี่ไม่ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนด (ใบสั่งทุกประเภท ทั้งแบบที่เขียนโดยเจ้าพนักงานจราจร รวมถึงใบสั่งกล้องที่ส่งทางไปรษณีย์ และทั้งใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์) และเจ้าพนักงานจราจรออกหนังสือแจ้งเตือนให้ ชำระค่าปรับใบสั่ง อีกครั้ง ก็ยังฝ่าฝืนไม่ชำระค่าปรับในกำหนดเวลาตามหนังสือแจ้งเตือน ถือเป็น “ใบสั่งค้างชำระ” ซึ่งเมื่อไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปีนั้น หากขอชำระภาษีโดยไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งค้างชำระไปในคราวเดียวกันนั้น นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปีแต่จะไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี) ให้ โดยจะออกหลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษีซึ่งมีอายุ 30 วันให้ไปพลางก่อน เพื่อให้ไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน จึงจะมารับป้ายภาษีได้ และการยังฝ่าฝืนไม่ไปชำระค่าปรับและยังใช้ยานพาหนะนั้นบนท้องถนน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบก็จะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินถึง 2,000 บาทต่อครั้งตาม ม.60 ของ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และทั้งจะถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือ ตัดแต้มใบขับขี่ อีก 1 คะแนนต่อครั้ง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อีกด้วย
รองโฆษก ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกต่อประชาชน หากผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ ไม่แน่ใจว่าตนเองมีใบสั่งให้ไปชำระค่าปรับหรือมีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถลงทะเบียนใช้งานและตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ หรือตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ
สามารถชำระค่าปรับตามใบสั่งหรือใบสั่งค้างชำระได้ที่
- สถานีตำรวจทุกแห่ง
- ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
- สำนักงานไปรษณีย์ทุกสาขา
- จุดรับชำระเงินในเครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
- ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย หรือตู้บุญเติม
- ชำระผ่าน แอปพลิเคชันกรุงไทย next
- แอปพลิเคชันเป๋าตัง
- ชำระผ่านบัตรเครดิตผ่าน เว็บไซต์ E-Ticket PTM
- ชำระที่เคาน์เตอร์บริการที่มีสัญลักษณ์ PTM เช่น family mart / top supermarket / ไทวัสดุ
- ชำระผ่านระบบ Mobile Banking หรือ Internet Banking ของทุกธนาคาร
หากผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะไม่มีใบสั่งคงค้าง หรือชำระค่าปรับเสร็จสิ้นแล้วก่อนการต่อภาษีประจำปี ก็จะสามารถได้รับป้ายการเสียภาษีทันทีที่ต่อภาษี
พ.ต.ท. ธ เทพ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงค่าปรับและเพื่อเป็นการเสริมสร้างวินัยจราจร ลดการกระทำผิดซ้ำเพื่อลดอุบัติเหตุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติใคร่ขอให้ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะได้กรุณารักษากฎจราจรอย่างเคร่งครัด และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Call Center ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง