งานเข้า! หน่วยราชการ สตง. ตรวจสอบ ขุดเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
สตง. ตรวจสอบโครงการก่อสร้างขุดเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง พบเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดการสำรวจออกแบบพื้นที่จริง
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เข้าตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการก่อสร้างขุดเจาะบ่อบาดาลและสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง
ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 27.50 ล้านบาท ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 51 กลุ่ม จำนวน 490 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 7,508 ไร่ พบว่าการดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
1. การใช้ประโยชน์จากบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พบว่า มีเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์จากบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 91 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 18.57 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 490 ราย และมีพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์จากบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 275.765 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.67 ของพื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 7,508 ไร่
2. ความสามารถในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร พบว่า มีเกษตรกรที่สามารถเพิ่มชนิดพืช เพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูก และเพิ่มการเลี้ยงสัตว์ จากการใช้น้ำจากบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนเพียง 59 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 12.04 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 490 ราย
3. ความสามารถลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่าย พบว่า มีเกษตรกรที่สามารถลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำจากบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนเพียง 30 ราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 6.12 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 490 ราย
4. กลุ่มเกษตรกรทั้ง 51 กลุ่ม หรือคิดเป็นร้อยละ 100.00 ของกลุ่มเกษตรกรทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการยังไม่มีการบริหารจัดการในลักษณะกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ชัดเจน ยังไม่กำหนดข้อบังคับหรือข้อตกลง หลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจนตามระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาลว่าด้วยการบริหารระบบน้ำบาดาลของกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาล พ.ศ. 2563
“สาเหตุส่วนใหญ่ที่การดำเนินงานโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเกิดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการเกษตร เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรแต่ละรายว่ามีความพร้อมด้านแรงงาน งบประมาณ พื้นที่ที่จะใช้ประโยชน์จากบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งยังขาดการสำรวจออกแบบพื้นที่จริง
จุดก่อสร้างหรือจุดติดตั้งระบบอยู่ต่ำกว่าพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร ส่งผลให้แรงดันน้ำต่ำไม่สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่เกษตรกรได้ ไม่มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ทำให้ขาดการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงเพียงพอกับสมาชิกทุกราย ตลอดจนขาดการติดตามประเมินผลโครงการ ทำให้ไม่รับทราบปัญหาและผลการดำเนินงานที่แท้จริง จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ เป็นต้น” รายงานการตรวจสอบของ สตง. ระบุ
จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. จึงได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อาทิ สร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมให้คำแนะนำ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำและบริหารจัดการกลุ่มตามระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาลว่าด้วยการบริหารระบบน้ำบาดาลของกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาล พ.ศ. 2563 พร้อมติดตาม แนะนำ และแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์บ่อบาดาลและระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้รายงานผลการดำเนินงานให้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
นอกจากนี้ ในการจัดทำโครงการในโอกาสต่อไป ให้กำชับหน่วยงานที่จะขอรับงบประมาณให้พิจารณากำหนดเป้าหมายของโครงการโดยต้องให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนพื้นที่ร่วมโครงการ ระยะห่างของแต่ละแปลงถึงจุดติดตั้ง กิจกรรมของผู้เข้าร่วมโครงการ ให้เหมาะสมกับสมรรถนะของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละโครงการ กำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการและจัดทำแผนการปฏิบัติงานโครงการให้ชัดเจน
อีกทั้งควรมีการสำรวจพื้นที่จริงว่ามีลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์และการกระจายน้ำ หรือมีข้อจำกัดอื่นที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานโครงการที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ พร้อมกำหนดให้มีระบบการติดตามการดำเนินงานของผู้เข้าร่วมโครงการเป็นระยะจนสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เพื่อทราบผลการดำเนินงานของผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะสามารถให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้ทันเวลา เป็นต้น