กทม. เล็งชวนภาคเอกชนทำ Pilot Project ห้องเรียนปลอดฝุ่น

กทม. เล็งชวนภาคเอกชนทำ Pilot Project ห้องเรียนปลอดฝุ่น

กทม. เล็งชวนภาคเอกชนทำ Pilot Project ห้องเรียนปลอดฝุ่น พร้อมแจงเหตุต้องติดแอร์ 2 เครื่องในห้องเรียน

วันนี้ (7 ก.ย. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีถูกตัดงบโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นว่า จะมีการกลับมาดูรายละเอียดโครงการใหม่ สำหรับงบที่ถูกตัดเป็นขั้นตอนของการแปรญัตติจึงไม่ได้มีขั้นตอนของการชี้แจง ซึ่งรายละเอียดที่แสดงจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นค่าก่อผนัง 20 ตารางเมตร ขนาดห้องจริง คือ 49-64 ตารางเมตร จึงจำเป็นต้องใช้แอร์ 2 ตัว จากนี้จะมีการกลับไปทบทวนเรื่องการเอาโซลาเซลล์ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ตามคำแนะนำของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาปรับใช้และยื่นของบประมาณอีกครั้ง
 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต้องเคารพการตัดสินใจของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร งบประมาณปี 2567 ประมาณ 9 หมื่นล้าน ถูกตัดไป 300 ล้าน ถือว่าไม่เยอะ ก็คงต้องปรับปรุงกระบวนการ อะไรที่เป็น Pilot Project ทำได้ก็ทำไปก่อน อาจหาเงินจากเอกชนมาซัพพอร์ตสักห้องเรียนหนึ่งแล้วเก็บข้อมูลเรื่องการใช้ไฟ ประโยชน์ที่ได้รับ เป็นหลักฐาน ให้เห็นประโยชน์หรือข้อเสียที่ชัดเจน ซึ่งบางโรงเรียนก็มีห้องเรียนแอร์อยู่บ้าง อาจทำให้การเสนอของบประมาณในครั้งหน้าคือปี 2568 ทำให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครพิจารณาง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีฝุ่นเยอะอาจต้องหาทางบรรเทา เช่น ใส่หน้ากาก งดออกข้างนอก ติดธงแจ้งเหตุ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องฝุ่นจะต้องมีการคุยกับรัฐบาลด้วย เพราะรัฐบาลมีแผนแม่บทเรื่องฝุ่นอยู่ ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้เคยพูดถึงแนวทางเรื่องฝุ่นที่ดีมากว่า ฝุ่นส่วนหนึ่งมาจาการเผาอ้อย จึงน่าจะมีแรงจูงใจให้เกษตรกรไม่เผาอ้อย ประกอบกับผลการวิเคราะห์จากนักสืบฝุ่น ช่วงที่ฝุ่นในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากพบว่าส่วนใหญ่มาจากการเผาชีวมวล ส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์และส่วนใหญ่มาจากการเผาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร คือ ข้าวกับอ้อย ซึ่งปีนี้กรุงเทพมหานครมีงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องอัดฟางเพื่อให้ประชาชนช่วยอัดฟางในพื้นที่เกษตรเพื่อนำไปขาย น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดฝุ่นได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ต้องมีการหารือกับรัฐบาลเพราะกรุงเทพมหานครหน่วยงานเดียวไม่สามารถทำสำเร็จได้
 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า โครงการหนึ่งที่อยากเสนอต่อคือการย้ายท่าเรือคลองเตย ซึ่งจริง ๆ ก็อยู่ในแผนแม่บท ซึ่งมีตู้คอนเทนเนอร์เป็นล้านตู้เข้ามาที่ท่าเรือคลองเตย ก็จะมีรถบรรทุก 2 ล้านคันวิ่งเข้าออก นอกเหนือจากเรื่องรถที่วิ่งเข้าออกยังมีเรื่องจราจรติดขัด หากขยับท่าเรือคลองเตยออกไปได้จะมีพื้นที่อีก 2,000 ไร่ มาปรับปรุงเป็นที่อยู่อาศัยให้คนเมืองที่มีรายได้น้อย หรือทำพื้นที่สีเขียว ซึ่งเห็นว่าหลายเมืองมีการย้ายท่าเรือออกจากแม่น้ำในเมือง อนาคตที่ต้องทำอีกอย่างคือการคุยเรื่อง Global Warming หรือระดับน้ำทะเลสูง หวังว่ารัฐบาลจะมีคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้จริงจัง ซึ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่เป็นโครงการระยะยาว เชื่อว่าการย้ายท่าเรือคลองเตยออกไปจะช่วยให้การคิดแนวทางการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นได้ดีขึ้น ถ้ามีเรือขนาดใหญ่เข้าออก การปิดล้อมจะทำได้ยาก ถ้าไม่มีเรือขนาดใหญ่เข้าออก การปิดล้อมจะทำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้คิดว่ามีหลายเรื่องจะหารือกับทางรัฐบาลได้ เช่น การจราจร รถไฟฟ้าที่จะชวนรัฐบาลช่วยลงทุน 2 สาย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การนำพื้นที่ราชการต่าง ๆ มาเป็นพื้นที่สาธารณะแบ่งปันให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ได้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ทำการค้า เป็นต้น