เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยศาสนา | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ข้อกังวลเกี่ยวกับความออกนอกลู่นอกทางของการนับถือศาสนาและวิธีการตีความคำสอนของศาสนาในสังคมไทยมีมานานแล้ว เกิดขึ้นกับทุกศาสนา แถมบางครั้งศาสนายังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกด้วย
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ศาสนามีบทบาททางสังคมอยู่สามประการด้วยกัน คือ ศาสนาในฐานะสินค้าส่วนบุคคล ศาสนาในฐานะสินค้าสาธารณะ และศาสนาในฐานะทุนทางสังคม หากจะทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้ฐานะปัจจุบันของศาสนาเปลี่ยนแปลงไป ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงต้องพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นในสามประเด็นนี้ด้วย
ศาสนาในฐานะของสินค้าส่วนบุคคล หลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาเป็นการชี้แนวทางในการดำเนินชีวิต การเลือกนับถือหรือไม่นับถือศาสนาจึงเป็นสิทธิของแต่ละคน ไม่มีใครสามารถบังคับจิตใจได้ เพราะคนเราต่างก็ต้องการเลือกแต่สิ่งที่ดีสำหรับตัวเอง การนับถือศาสนาก็ถือเป็นการเลือกอย่างหนึ่งซึ่งควรเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ
ตามแนวคิดนี้ ศาสนากับการเมืองควรแยกจากกัน ศาสนาทุกศาสนาควรได้รับโอกาสในการนำเสนอ “คุณค่า” ของศาสนานั้นอย่างเท่าเทียมกัน แล้วให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเองว่าเขาจะเลือกรับหรือไม่รับศาสนาใด
การแทรกแซงใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเผยแพร่ศาสนาก็ไม่ต่างอะไรกับการแทรกแซงการทำงานของตลาดจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง
ศาสนาในฐานะของสินค้าสาธารณะ ศาสนาเป็นสิ่งที่ใช้แล้วไม่หมดไป ถึงมีคนนับถือศาสนาลดลงไปอีกหนึ่งคน ไม่ได้ทำให้ศาสนาลดคุณค่าหรือลดความสำคัญลงไปเลย ดังนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว
สาระสำคัญของคำสอนของทุกศาสนาก็คือเงื่อนไขพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของสังคม เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมคำสอนของศาสนาอย่างถ่องแท้และรับเอามาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต ก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรไปกับการควบคุมความสงบเรียบร้อยของสังคม รัฐสามารถนำเอาทรัพยากรส่วนนี้ไปใช้ในด้านอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อีก
อย่างไรก็ตาม ศาสนาจะทำหน้าที่นี้ได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้เผยแพร่ศาสนา หากผู้เผยแพร่ศาสนาทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีความเข้าใจหลักคำสอนอย่างถ่องแท้ ไม่ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ส่วนตัวแล้ว ความแตกต่างของจำนวนผู้นับถือศาสนาแต่ละศาสนาในสังคมก็ไม่ใช้เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมขึ้นมาได้
ศาสนาในฐานะทุนทางสังคม กิจกรรมทางศาสนาเปิดโอกาสให้คนในสังคมที่มีความเชื่อพื้นฐานคล้ายคลึงกันได้มีโอกาสพบปะพูดคุยทำความรู้จักกัน ก่อให้เกิดชุมชนและเครือข่ายทางสังคม ประโยชน์ที่ได้รับไม่ได้มีเฉพาะความรู้สึกทางใจเท่านั้น
เครือข่ายนี้ยังช่วยให้สมาชิกสามารถรับข้อมูลข่าวสารในด้านต่าง ๆ ได้มากกว่าที่จะต้องไปหาด้วยตัวของตัวเอง บ่อยครั้งที่กิจกรรมในลักษณะนี้ได้นำไปสู่ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางธุรกิจและที่สำคัญสำหรับเยาวชนแล้วกิจกรรมทางศาสนายังมีผลในทางบวกต่อระดับการเรียนอีกด้วย
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาโดยสมัครใจกับระดับผลการเรียน น่าเสียดายว่างานวิจัยแทบทุกชิ้นเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นในอเมริกาและกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ผู้เขียนเชื่อว่าผลของแต่ละศาสนาน่าจะไม่ต่างกันมากนัก
งานวิจัยเหล่านี้ให้ผลตรงกัน 3 ข้อ
ข้อแรก นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาโดยสมัครใจและมีโอกาสได้ศึกษาหรือรับฟังคำสอนจะช่วยพัฒนาระดับความคิดในเชิงนามธรรม (Abstract) ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการคิดและวิเคราะห์ขั้นสูง
ข้อที่สอง การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาช่วยให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนและรับข้อมูลใหม่ ๆ จากการฟังการสนทนาระหว่างผู้ใหญ่ ทำให้สามารถมองประเด็นปัญหาได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่าเดิม
ข้อที่สาม ครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันมักจะมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต่ำ สมาชิกในครอบครัวมีความมั่นคงทางจิตใจ จึงมีสมาธิในการทำงานและการเรียนได้ดีกว่าครอบครัวที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้มีความสนใจในกิจกรรมทางศาสนามากนัก
สิ่งที่ต้องระวัง คือ การบรรจุหลักสูตรทางศาสนาไว้ในการเรียนการสอนที่เน้นแต่การท่องจำ บังคับให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่สมัครใจ
ครูผู้สอนไม่ได้เข้าใจหลักคำสอนอย่างถ่องแท้พอจะถ่ายทอดออกมาได้ แทนที่จะทำให้นักเรียนสนใจศาสนา กลับกลายเป็นการสร้างความรู้สึกในเชิงลบเกี่ยวกับศาสนา เดี๋ยวจะเข้าทำนองว่า “ได้ตัวแต่ไม่ได้หัวใจ”
ศาสนาเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และมีหลายมิติที่ต้องคำนึงถึง ศาสนาเองก็ไม่ใช่ใช่กลไกเดียวที่จะสร้างสังคมที่ผาสุขได้ ความมีธรรมาภิบาล ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน และอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชน ก็เป็นมิติที่ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน