อยากได้ประชาธิปไตยควรคิดให้ไกลกว่าการแก้ตัวหนังสือ

อยากได้ประชาธิปไตยควรคิดให้ไกลกว่าการแก้ตัวหนังสือ

มีแนวคิดหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ที่เสนอว่า การเมืองเป็นเกม มีผู้เล่นสองกลุ่ม คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และพรรคการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายนำเสนอนโยบายต่อประชาชน ประชาชนจึงเป็นผู้ซื้อและพรรคการเมืองเป็นผู้ขาย

เมื่อเป็นการซื้อขายก็ไม่ต่างอะไรกับการมีกลไกตลาด ดังนั้น แนวคิดนี้จึงเสนอว่า การแข่งขันทางการเมืองเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของสังคม ดีกว่าปล่อยให้พรรคใดพรรคหนึ่งผูกขาดแต่เพียงพรรคเดียว

นอกจากนี้แล้ว ระบบการเมืองที่ดี  คือ  ระบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นกลาง  ประชาชนคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล  โดยการเปรียบเทียบประโยชน์และต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง 

ประชาชนมีโอกาสแสดงความเห็นของตนเองได้อย่างอิสระ  พรรคการเมืองได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันเพื่อนำเสนอนโยบายของตนให้ประชาชนได้รับรู้และตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม  การจะทำให้กลไกทางการเมืองเดินหน้าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้  โจทย์ที่จะต้องขบให้แตกมีอยู่สองข้อด้วยกัน

ข้อแรก  คือ  ทำอย่างไรประชาชนจึงจะสามารถคิดและแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของตนให้พรรคการเมืองได้รับรู้  มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองอย่างเพียงพอเพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกผู้แทนได้อย่างมีเหตุมีผล  ไม่ได้เลือกเพราะความชอบ ไม่ได้เลือกเพราะกระแส

ข้อที่สอง  คือ  ทำอย่างไรพรรคการเมืองจึงจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง  นักการเมืองลงสมัครรับเรื่องตั้งเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง  โดยนิยามของคำว่า “ประโยชน์”  สำหรับผู้สมัครแต่ละคนมีความแตกต่างกัน 

บางคนมีความสุขจากการได้รับใช้ชาติ  บางคนต้องการสร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล  แต่ก็มีเหมือนกันที่เล่นการเมืองเพราะต้องการแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่ง  ซึ่งกลุ่มหลังสุดนี้เองที่เป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาประชาธิปไตย

อยากได้ประชาธิปไตยควรคิดให้ไกลกว่าการแก้ตัวหนังสือ

การใช้กฎหมายบังคับให้พรรคการเมืองรักษาสัญญาทำได้ยากมากในทางปฏิบัติ  เพราะพิสูจน์ได้ยากว่าพรรคการเมืองได้ทำตามสัญญาหรือยัง 

พรรคการเมืองอาจจะอ้างว่ากำลังดำเนินการอยู่แต่ยังไม่เสร็จสิ้น  แล้วคอยผัดวันประกันพรุ่งซื้อเวลาไปเรื่อยๆ  ซ้ำร้ายหน่วยงานที่จะเข้ามาตรวจสอบเองก็อาจถูกแทรกแซงโดยพลังทางการเมืองได้เช่นกัน

ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ  การส่งเสริมให้มีการลงโทษโดยภาคประชาชน  ไม่ใช่ด้วยการไปประท้วงหน้าทำเนียบ  ไม่ใช่ด้วยการเดินขบวนปิดถนน 

แต่เป็นการลงโทษด้วยการไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหากไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้

การทำเช่นนี้จะบังคับให้พรรคการเมืองต้องคิดไกล  ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้น  ถึงบางคนในพรรคหวังรวยด้วยการเล่นการเมืองเพียงสมัยเดียวแล้วโกงกินสะบั้นหั่นแหลก 

แต่สมาชิกพรรคคนอื่นที่หวังจะอยู่ยาวก็จะรวมตัวกันคอยคัดค้าน  แม้จะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์  อย่างน้อยยังก็ควบคุมไม่ให้เหล่าคนโกงชาติโกงแผ่นดินเหล่านี้มูมมามจนเกินไป

อยากได้ประชาธิปไตยควรคิดให้ไกลกว่าการแก้ตัวหนังสือ

นอกจากนี้แล้ว  การที่สังคมไทยขี้ลืม หรือรักกันงมงายจนไม่ลืมหูลืมตา  เลยทำเป็นมองข้ามเรื่องที่ความจริงเป็นเรื่องที่ต้องแสดงความรับผิดชอบทำให้นักการเมืองได้ใจ 

คำสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้ตอนเลือกตั้งก็เป็นแค่สัญญาลมปากไม่จำเป็นต้องทำตามอย่างเคร่งครัด  อยากได้อะไรรับปากหมดเอาไว้ก่อน  แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่ได้เหมือนที่เคยตกลงไว้  กลายเป็นวังวน  จนทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งพาลเบื่อการเมืองไปในที่สุด

มีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน  แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวแทนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกลุ่มคนที่ตนเป็นตัวแทนอย่างสมบูรณ์ 

เพราะในทางปฏิบัติแล้ว  การจะทำเช่นนั้นได้จะต้องมีการระดมความเห็นกันตั้งแต่ระดับรากหญ้า  แล้วเก็บรวมรวมข้อมูลทั้งหมดมาประมวลเป็นภาพรวมพร้อมด้วยตัวเลขเชิงสถิติประกอบการตัดสินใจ 

ไม่ใช่การนึกคิดเอาเองของคนเพียงหยิบมือเดียว และคนที่มาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องทำไปเพื่อประโยชน์ของมหาชนอย่างแท้จริงไม่มีวาระซ่อนเร่นส่วนตัว

สังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่าเราต้องการรัฐธรรมนูญ  เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วเดี๋ยวอะไรอะไรก็จะดีขึ้นมาเอง  ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมได้เปล่งรัศมีบดบังประเด็นอื่นๆ ที่ควรทำก่อนหรือทำควบคู่กันไปกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ  โดยเฉพาะการปฏิรูปความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทย

เพราะบรรยากาศทางการเมืองในตอนนี้คนเห็นต่างมองหน้ากันไม่ติด  การแก้ไขความคิดและพฤติกรรมทำได้ยาก  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว  อะไรที่แก้ยากแก้นานก็ยิ่งต้องเริ่มให้เร็ว  เพราะยิ่งเริ่มช้ากว่าจะแก้ปัญหาได้ก็ยิ่งนานเข้าไปอีก

ปัญหาในบ้านเมืองเราตอนนี้เกิดจาก “คน” ไม่ได้เกิดจากตัวหนังสือ  หากมัวแต่มาสนใจกับการแก้ตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวโดยหวังว่าตัวหนังสือจะไปแก้พฤติกรรมของคนก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีประเทศไทยจึงจะมีประชาธิปไตยของจริงเสียที

คอลัมน์ หน้าต่างความคิด

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

คณะเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[email protected]