คุณค่าของทักษะวัดกันจากอะไร | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

คุณค่าของทักษะวัดกันจากอะไร | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ในปัจจุบันนี้ ทักษะกลายเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจและคนทำงาน การเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) และการยกระดับทักษะเดิม (Upskill) กลายเป็นคำฮิตที่ได้ยินกันอยู่เสมอ

เนื่องจากทักษะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นเหมือนหน้าตาหรือวุฒิการศึกษา การจะประเมินคุณค่าของทักษะออกมาเป็นตัวเลข จึงไม่สามารถทำได้กับทักษะทุกเรื่อง แต่อย่างน้อย ถ้าเราสามารถตอบคำถามพื้นฐาน 5 ข้อต่อไป เราก็พอจะประเมินกันคร่าว ๆ ได้ว่าทักษะนั้นมีคุณค่ากับหน่วยงานหรือตัวเราเองแค่ไหน

1. ทักษะที่มีอยู่มีส่วนในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทมากน้อยเพียงใด?

คุณสมบัติประการแรกที่เป็นตัวกำหนดคุณค่าของทักษะคือ  การสร้างความเหนือกว่าในการแข่งขัน  ทักษะที่มีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถนำหน้าคู่แข่งได้  ก็จัดว่าเป็นทักษะที่สำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น  ทักษะที่สำคัญในการทำธุรกิจของกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่ของหมู่บ้านในภาคเหนือก็คือ  ความสามารถในการทอผ้าของช่างทอผ้า  เทคนิคการออกแบบลวดลายใหม่ๆ ที่สวยงาม  และความสามารถในการเลือกสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ  เป็นต้น

ส่วนทักษะที่มีความสำคัญในการแข่งขันในลำดับรองลงมา  ได้แก่  ทักษะในด้านการทำบัญชี  ทักษะการขับรถของคนขับรถส่งผ้าไปให้แก่ลูกค้า  เป็นต้น

ทักษะสามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายหรือไม่?

แม้ว่าบริษัทจะมีทักษะที่ทำให้บริษัทอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าคู่แข่ง  แต่หากทักษะดังกล่าวมิได้มีลักษณะเฉพาะตัว และเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบได้ง่ายแล้ว  คู่แข่งก็จะสามารถหาหรือสร้างทักษะประเภทเดียวกันนี้ได้ในระยะเวลาไม่นาน  ซึ่งจะทำให้ความเหนือกว่าที่มีอยู่หมดไปในที่สุด

ลักษณะเฉพาะตัวของทักษะมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น  แต่เป็นผลจากการพัฒนาทักษะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  จนกระทั่งกลายเป็นความเชี่ยวชาญ

ทักษะเกี่ยวกับการออกแบบและทอผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายสวยงาม  ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่มีลักษณะเฉพาะที่สมาชิกในกลุ่ม มีการพัฒนาและถ่ายทอดกันมาอย่างต่อเนื่องหลายชั่วอายุ เพราะการลอกเลียนแบบต้องใช้เวลาในการฝึกฝนยาวนาน

ทักษะนั้นเสื่อมค่าเร็วแค่ไหน?

ทักษะก็เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ย่อมมีการเสื่อมค่าไปตามกาลเวลา  แต่สิ่งที่ทำให้ทักษะแตกต่างจากสินทรัพย์ทั่วไปก็คือ การเสื่อมค่าของทักษะมิได้เกิดจากการใช้ประโยชน์  แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ 

เช่น  การเสื่อมความนิยมในตัวสินค้าที่ใช้ทักษะนั้นในการผลิต  ซึ่งส่งผลให้ทักษะนั้นไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป  การค้นพบทักษะใหม่ที่สามารถให้ประโยชน์ในเรื่องเดียวกันได้ดีกว่าทักษะเดิมที่มีอยู่

ตัวอย่างเช่น ถ้าความนิยมในผ้าไหมมัดหมี่ลดลง  คุณค่าของทักษะในการทอผ้าประเภทนี้ก็จะลดลงตามไปด้วย  แต่เมื่อใดก็ตามที่ความนิยมผ้าไหมเพิ่มขึ้น คุณค่าของทักษะเกี่ยวกับการทอผ้าก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากทักษะนี้บ้าง?

ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรส่วนใหญ่ของบริษัทย่อมมีคุณค่ามากกว่าทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มเล็กๆ  การได้รับประโยชน์ในที่นี้อาจเป็นการได้รับประโยชน์โดยตรงเพราะเป็นผู้ใช้ทักษะนั้น  หรือประโยชน์โดยอ้อมจากการทำงานร่วมกับผู้ที่ใช้ทักษะนั้น

ในกรณีของการทอผ้า  ตัวอย่างของทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใหญ่คือทักษะเกี่ยวกับการออกแบบและการทอผ้า  ที่มีการสร้างลวดลายใหม่ๆ  ขึ้นมาอยู่เสมอ  จนเป็นที่ต้องการของลูกค้า 

คนในกลุ่มจึงมีงานทำอย่างต่อเนื่อง (ผู้ใช้ประโยชน์จากทักษะโดยตรง)  และทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มที่มิได้ทำหน้าที่ทอผ้า  (ผู้ได้รับประโยชน์ทางอ้อม) เช่น  ผู้ซื้อวัตถุดิบ  คนทำบัญชี  คนขับรถส่งผ้าไปยังตัวเมือง  ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

สามารถหาทักษะอื่นมาทดแทนได้ยากง่ายเพียงใด?

ถึงแม้ว่าทักษะที่มีอยู่อาจมีลักษณะเฉพาะที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย  แต่ถ้าคู่แข่งมีทักษะอื่นๆ  ที่ให้ประโยชน์ในเรื่องเดียวกันแล้ว  ความสำคัญของทักษะเฉพาะที่เรามีอยู่ก็จะลดลง

จากตัวอย่างข้างต้น  สิ่งที่สามารถทดแทนทักษะเกี่ยวกับการทอผ้าก็คือการใช้เครื่องจักร  หากกลุ่มทอผ้าของหมู่บ้านใกล้ๆ กันที่เป็นคู่แข่งซื้อเครื่องจักรนี้มาใช้  ทำให้สามารถผลิตผ้าได้มากกว่าในราคาที่ต่ำกว่าแล้ว  ความสามารถในการแข่งขันของหมู่บ้านที่ทอผ้าด้วยมือก็จะลดลง  คุณค่าของทักษะเกี่ยวกับการทอผ้าด้วยมือก็ลดลงตามไปด้วย

การประเมินคุณค่าของทักษะ

จากคำถามทั้งห้าข้อ  เราจะเห็นว่า ทักษะที่มีคุณค่าต่อบริษัทต้องเป็นทักษะที่มีส่วนในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน  ลอกเลียนแบบได้ยาก  เสื่อมค่าช้า  เป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่คนกลุ่มใหญ่ของบริษัท  และเป็นสิ่งที่ทดแทนได้ยาก

การที่เราสามารถจัดลำดับความสำคัญของทักษะที่มีอยู่ได้นั้น  จะช่วยในการตัดสินใจว่า  จะจัดสรรทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะอย่างไร จึงจะทำให้บริษัทสามารถสร้างและรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ในระยะยาว.

คอลัมน์ หน้าต่างความคิด

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

คณะเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[email protected]