ปภ. ประสาน 4 จังหวัดอีสานลุ่มน้ำชี - มูล เฝ้าระวังน้ำท่วม ช่วง 26 ก.ย. – 5 ต.ค.66
ปภ. ประสาน 4 จังหวัดอีสานลุ่มน้ำชี - มูล "กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี" เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ช่วงวันที่ 26 ก.ย. – 5 ต.ค.66
วันนี้ (26 ก.ย. 66) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือในลุ่มน้ำชี – มูล ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนลำปาวและพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 26 ก.ย. – 5 ต.ค.66 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสถานการณ์ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 21/2566 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 แจ้งว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี - มูล ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว ปัจจุบันปริมาณน้ำ คิดเป็นร้อยละ 102.67 ของความจุเก็บกัก จึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ในอัตราวันละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดจนถึงประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลำปาวมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี (ข้อมูลวันที่ 26 ก.ย.66) ระดับน้ำ +112.31 เมตร ระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 0.33 เมตร และปริมาณฝนคาดการณ์พบว่าในวันที่ 2 ตุลาคม 2566ระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับ +112.84 ม.รทก. (สูงกว่าตลิ่ง 0.84 ม.) ซึ่งปริมาณน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 26 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 ประกอบด้วย
พื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนลำปาว 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอโพธิ์ชัย เชียงขวัญ ธวัชบุรี เสลภูมิ ทุ่งเขาหลวง อาจสามารถ และพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และค้อวัง จังหวัดยโสธร
พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือลุ่มน้ำชี - มูล เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนลำปาวและพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม ตลอดจนให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประททาน เพื่อหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลให้ได้มากที่สุด รวมทั้งจัดการจาจรทางน้ำในน่ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับประชาชนขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ทุกที่ทุกเวลา