พาไปดูความแตกต่าง จุดสังเกตระหว่าง 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้'

พาไปดูความแตกต่าง จุดสังเกตระหว่าง 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้'

พาไปดูความแตกต่างระหว่าง 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้' ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร จากกรณีพบซากดึกดำบรรพ์ 'อัลลิเกเตอร์' สายพันธุ์ใหม่ของโลกจากประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis)

พาไปดู ความแตกต่างระหว่าง 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้' ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร จากกรณีพบซากดึกดำบรรพ์ 'อัลลิเกเตอร์' สายพันธุ์ใหม่ของโลกจากประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล โดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล

กรมทรัพยากรธรณี พร้อมทีมนักวิจัยจากประเทศเยอรมนี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการพบ ซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ เป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น ในสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร คาดว่ามีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปี ท่ามกลางความสนใจ รวมถึงข้อสงสัยระหว่าง 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้' ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร 

 

พาไปดูความแตกต่าง จุดสังเกตระหว่าง \'อัลลิเกเตอร์\' กับ \'จระเข้\'

 

'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้' 

ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ ระบุว่า 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้' จัดอยู่ในไฟลัมเดียวกันคือ ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata)  คลาสเรปทิเลีย (Class Reptilia) แต่มีวงศ์ที่ต่างกัน 

โดยจระเข้จัดอยู่ใน Family Crocodylidae ในขณะที่อัลลิเกเตอร์จัดอยู่ใน Family Alligatoridae ทั้ง 2 ชนิดเป็นสัตว์เลือดเย็นที่มีอุณหภูมิของร่างกายไม่คงที่คือจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม เป็นเหตุผลที่ว่าสัตว์ทั้งสองมักอาศัยอยู่ตามบึงหรือแหล่งน้ำที่มีอุณภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียสเพราะอุณหภูมิดังกล่าวจะทำให้มันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเหมาะสม 

จากการสำรวจพบว่าจระเข้ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย ซึ่งจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดได้แก่ จระเข้สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเค็ม วัดขนาดความยาวลำตัวได้ 9 เมตรและมีน้ำหนักตัวมากถึง 1 ตันเลยทีเดียว ในขณะที่อัลลิเกเตอร์ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอัลลิเกเตอร์จะมีขนาดลำตัวเล็กกว่าจระเข้ คือมีความยาวลำตัวเฉลี่ย 4.5 เมตร และสัตว์ทั้งสองนั้นมีอายุเฉลี่ยนานถึง 50 ปี

ความเหมือนและแตกต่างระหว่าง 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้' 

อาจสรุปได้เป็น 2 ประเด็น โดยทั้ง 'อัลลิเกเตอร์' กับ 'จระเข้' จะมีพังพืดที่เท้าซึ่งมีส่วนช่วยให้พวกมันว่ายน้ำได้ดีประกอบกับผิวหนังที่มีลักษณะเป็นลายตารางที่มีความแข็งแกร่งเทียบเท่ากับเสื้อเกราะและตำแหน่งของตาและรูจมูกที่ค่อนไปทางส่วนบนของหัวช่วยให้พวกมันสามารถล่าเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลากลางคืน 

นอกจากนั้น พวกมันยังมีอวัยวะรับสัมผัสที่มีความไวต่อเสียงและแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำอีกด้วย หากกล่าวถึงเรื่องของอวัยวะรับสัมผัส สัตว์ทั้งสองมีตุ่มรับสัมผัสขนาดเล็กอยู่บริเวณรอบขากรรไกรทั้งด้านบนและด้านล่าง ซึ่งถ้ามองเข้าไปใกล้ๆจะพบว่าตุ่มรับสัมผัสเหล่านี้มีลักษณะคล้ายตอบนผิวหนังของคนที่เพิ่งโกนหนวดเสร็จใหม่ๆ ตุ่มรับสัมผัสเหล่านี้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำเพื่อบอกให้ทราบถึงตำแหน่งของเหยื่อได้อย่างแม่นยำ

ซึ่งจระเข้จะมีปลายประสาทรับสัมผัสเหล่านี้กระจายอยู่บนชั้นผิวหนังทั่วลำตัวผิดกับอัลลิเกเตอร์ซึ่งจะพบปลายประสาทรับสัมผัสนี้เฉพาะบริเวณรอบขากรรไกรเท่านั้น 

ส่วนความแตกต่างทางกายภาพอื่นๆระหว่างอัลลิเกเตอร์กับจระเข้ คือลักษณะของปากและขากรรไกรโดยปากของอัลลิเกเตอร์จะมีลักษณะกว้างคล้ายรูปตัว U ขณะที่จระเข้จะมีลักษณะปากที่ยาวกว่าคล้ายรูปตัว V ซึ่งลักษณะดังกล่าวถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับชนิดของเหยื่อที่พวกมันกิน อัลลิเกเตอร์จะกินสัตว์ขนาดเล็ก ส่วนจระเข้จะกินสัตว์ขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ และอีกหนึ่งความแตกต่างทางกายภาพของทั้งสองชนิดคือ จระเข้ จะมีลักษณะลำตัวเป็นสีเหลืองอมเทาในขณะที่ อัลลิเกเตอร์ จะมีลำตัวสีดำอมน้ำตาล

สสวท. ระบุอีกว่า เรื่องของพฤติกรรมของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า จระเข้สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเค็มส่วนใหญ่จะมีความก้าวร้าวมากกว่าอัลลิเกเตอร์ เพราะอัลลิเกเตอร์ส่วนใหญ่ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เว้นเสียแต่ว่ามันจะรู้สึกว่าถูกรบกวนหรือถูกบุกรุกอาณาเขต ผิดกับจระเข้ที่มีนิสัยก้าวร้าวกว่า

พวกมันสามารถฆ่ามนุษย์ได้เพียงแค่มนุษย์คนนั้นอยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะจระเข้ส่วนใหญ่จะมีอาณาเขตของตัวเองซึ่งหากมีผู้บุกรุกเข้ามาเมื่อไหร่พวกมันจะโจมตีทันที โดยเฉพาะจระเข้ที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำไนท์ มีรายงานว่าพวกมันทำร้ายมนุษย์จนเสียชีวิตทุกปี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยพยายามอย่าเข้าใกล้ทั้งสองชนิดจะดีที่สุด 

 

ข้อมูลประกอบจาก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์