กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขึ้นทะเบียน GI 'มังคุดทิพย์พังงา'
"มังคุดทิพย์พังงา" สินค้า GI รายการใหม่จังหวัดพังงา ถือเป็นรายการที่ 3 ของจังหวัด ตามหลัง ทุเรียนสาลิกาพังงา และข้าวไร่ดอกข่าพังงา
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ "มังคุดทิพย์พังงา" ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพังงา ที่มีการเพาะปลูกกันมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียงและมีผลผลิตจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีนและเวียดนาม เป็นต้น และเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดพังงา ต่อจาก ทุเรียนสาลิกาพังงา และข้าวไร่ดอกข่าพังงา ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่า 280 ล้านบาทต่อปี
สำหรับ "มังคุดทิพย์พังงา" มีความหมายว่า ผลไม้ของเทวดาที่มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา มีลักษณะเด่น คือ เป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมือง ผลทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา แห้ง แตกลาย เนื้อสีขาว หนานุ่ม ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน ดินมีการระบายน้ำดี อีกทั้งลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ทำให้จังหวัดพังงามี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศดังกล่าว
ประกอบกับกระบวนการปลูก มังคุด ของเกษตรกรชาวพังงาที่เน้นการดูแลรักษาแบบธรรมชาติ จึงเกิดเพลี้ยไฟในช่วงออกดอกและติดผลอ่อน มีผลดี คือ ทำให้โครงสร้างของผิวเปลือกเปลี่ยนแปลง มีรอยแยกระหว่างเซลล์ เกิดเป็นช่องว่างบนผิว ทำให้ผิวของผลมังคุดส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลาย ระบายน้ำในผลออกมาได้ดี ส่งผลให้เนื้อมังคุดสีขาว แห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ และเปลือกมังคุดค่อนข้างหนา ทำให้เนื้อมังคุดไม่ช้ำง่าย
“กรมมีนโยบายสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง โดยการยกระดับสินค้าท้องถิ่น ผ่านการขึ้นทะเบียน GI เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และจากนี้ กรมจะเดินหน้าส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และสนับสนุนช่องทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนต่อไป” นายวุฒิไกรกล่าว