สิทธิมนุษยชนกับการปรากฏตัวของ AI | ธนรัตน์ มังคุด
การปรากฏ (หรือไม่ปรากฏ) ของ “AI (Artificial Intelligence)” จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง
AI ปฏิบัติการบนฐานอัลกอริทึม (algorithm) มีความสามารถในการคาดการณ์ ตัดสินใจ และให้คำแนะนำ ทั้งในฐานะผู้ช่วยตัดสินใจและผู้ตัดสินใจเองโดยอิสระ ผ่านกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้าตามรสนิยมและความต้องการ การใช้ระบบจดจำใบหน้าในกิจกรรมต่างๆ หรือการค้นหาเส้นทางที่สะดวกที่สุด
นอกจากนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังได้นำ AI ไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ อาทิ การพิจารณาเกี่ยวกับสวัสดิการ การกำหนดผู้ได้รับโควตาทางการศึกษา การจัดลำดับการรับบริการทางสาธารณสุข การวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อหลักการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ อย่างสิทธิมนุษยชน (human rights) หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (non-discrimination) และความยุติธรรม (justice)
เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าเชิงบวกและสามารถพาไปใกล้โลกที่มีความเสมอภาคมากขึ้นได้ (เช่น ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายและครอบคลุมทุกกลุ่มคนยิ่งขึ้น)
การใช้ AI ก็มีมิติที่น่าห่วงกังวล โดยเฉพาะในเรื่อง “การเข้าถึงความเป็นปัจเจก" (individuality) ของมนุษย์ ที่เสี่ยงต่อการกระทบกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิอื่นๆ
นอกจากนี้ ผลกระทบในทางตรงกันข้ามเมื่อมีการนำ AI ไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) หรือเมื่อมีความขัดข้องของระบบ ก็อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ชุดข้อมูลที่ทำให้ AI ตัดสินใจแบบมีอคติและเลือกปฏิบัติ การใช้ AI โดยมีความอ่อนไหวไม่เพียงพอในด้านความหลากหลาย ความแตกต่างของพลังอำนาจ และสภาวะเปราะบาง
การใช้ AI เพื่อปิดกั้นการแสดงออก และเพื่อตรวจตราสอดส่องอย่างไม่ได้สัดส่วนจนละเมิดความเป็นส่วนตัว เป็นต้น -- ทั้งหมดนี้คือสภาวะที่กรอบคิดสิทธิมนุษยชนมุ่งป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
ภาพรวมของความท้าทายต่อกรอบคิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเห็นได้จาก 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1. ความท้าทายต่อกรอบคิดและระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน และ 2. ข้ออภิปรายเกี่ยวกับสิทธิใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโลกที่อยู่ร่วมกับ AI
สิทธิมนุษยชนคือหนึ่งในกรอบคิดที่มุ่งคุ้มครองมนุษย์ และทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น ระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) โดยประกอบด้วยสิทธิย่อยหลายสิทธิ
อาทิ สิทธิในชีวิต สิทธิในร่างกาย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิในการศึกษา สิทธิเกี่ยวกับการทำงาน
ทั้งนี้ แม้ดูเหมือนเป็นคำสามัญที่ใครๆ ก็รู้จักและมีความหมายตายตัว แต่ความจริงแล้วความหมายและเนื้อหาของสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นที่ถูกอภิปรายได้และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา
ประเด็นที่ 1. อาจเห็นภาพรวมได้จากคำกล่าวของ Volker Türk ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมครั้งที่ 53 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
Türk เริ่มต้นว่า การกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้ AI วางอยู่บนสองฐานคิดที่แตกต่างกัน ได้แก่ ฝ่ายที่เน้นไปที่การประเมินความเสี่ยง โดยมองว่าผู้พัฒนา AI ควรเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และทำการประเมินเองเพื่อที่จะได้ชี้ให้เห็นและบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด
และฝ่ายที่มองว่าทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ AI ต้องอยู่ภายใต้กรอบคิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ Türk เห็นว่า การวางกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้ AI ต้องอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน
Türk เสนอว่าควรมีการพิจารณาร่วมกันในระดับระหว่างประเทศในประเด็นต่างๆ ได้แก่
(1) การพูดคุยและรับข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ AI โดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการใช้ AI ในพื้นที่สาธารณะที่กระทบอย่างสูงกับสิทธิในความเป็นส่วนตัว
(2) การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต้องถูกนำมาใช้ในทุกช่วง (รวมทั้งก่อนและหลัง) ของการใช้ AI ภายใต้การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส และต้องมีการกำหนดข้อห้ามไม่ให้ใช้ AI ที่ขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย
(3) กฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว (เช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมข้อมูลและการแข่งขันทางการค้า) ต้องมีการนำมาใช้กับกรณี AI อย่างจริงจัง และ
(4) การช่วยกันยืนยันว่า การสร้างกฎเกณฑ์ควบคุมกันเองโดยกลุ่มธุรกิจที่ใช้ AI นั้น ไม่เพียงพอสำหรับการควบคุมผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับประเด็นที่ 2. สิทธิใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการอุบัติขึ้นของ AI มีอะไรบ้าง? -- แม้กรอบคิดสิทธิแบบดั้งเดิม อาทิ สิทธิในความเป็นส่วนตัว จะสามารถถูกตีความให้คล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา แต่สิทธิเหล่านี้ก็ยังคงมีข้อจำกัด จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (ค.ศ. 2022) ทำเนียบขาวแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกเอกสารแนวทางด้านสิทธิมนุษยชน “Blueprint for an AI Bill of Rights (AIBoR)” ซึ่งไม่มีสภาพผูกมัดทางกฎหมาย AIBoR ระบุสิทธิ 2 สิทธิที่ทำให้พอมองเห็นข้อความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการอยู่ในโลกแห่ง AI ไว้ด้วย ได้แก่
“สิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากระบบ AI ที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่มีประสิทธิภาพ (right to be protected from unsafe or ineffective AI systems) เช่น การคาดการณ์สภาวะของการติดเชื้อที่ไม่ถูกต้องในระบบโรงพยาบาล การใช้ AI โดยพวกสตอล์คเกอร์ เป็นต้น และ
“สิทธิที่จะได้รับการแจ้งเตือนและคำอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจด้วยอัลกอริทึมที่กระทบต่อชีวิตของปัจเจก" (right to receive notice and explanation of algorithmic decisions impacting individuals’ lives) เพื่อที่จะได้เข้าใจและนำข้อมูลไปใช้อุทธรณ์ต่อไป
ด้วยเหตุที่ AI อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ “สิ่งที่จับต้องได้” (เช่น ชีวิต ร่างกาย รวมถึงความเป็นส่วนตัว การแสดงออก และความเสมอภาค) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “ความคิด/จินตนาการ/ประสบการณ์” ที่มีต่อโลกด้วย
เช่น การที่ AI คัดเลือกข้อมูลเพียงบางชุดใน social media และแสดงต่อผู้ใช้บางกลุ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่จินตนาการ อคติ และความเกลียดชัง ในสำนึกของคนกลุ่มนั้น
ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คำถามว่า สิทธิอื่นๆ ที่จะทำให้มนุษย์ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสภาวะทำนองนี้สมควรเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่?