ดันแผน AI ไทยปี 2 เรียนรู้โรค-ขับเคลื่อนวงการแพทย์

ดันแผน AI ไทยปี 2 เรียนรู้โรค-ขับเคลื่อนวงการแพทย์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) เดินหน้ารุกแผน AI แห่งชาติ เผยผล 1 ปีการดำเนินงาน พร้อมปักธงโปรเจ็กต์ใหญ่ พัฒนาข้อมูลเอไอหนุนการแพทย์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) เตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาเอไอส่งเสริมเศรษฐกิจ จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ.2565-2570"

โรดแมปในครั้งนี้ คือ การนำร่องประยุกต์เอไอสำหรับใช้ทางการแพทย์ ขับเคลื่อน Medical AI ในประเทศ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ สร้างฐานข้อมูลกลางที่นักวิจัยสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยโรค เพื่อนำไปวิจัยต่อยอดในอนาคต 

ขับเคลื่อน Medical AI

ศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร หัวหน้าศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผนพัฒนาเอไอแห่งชาติจะเข้ามาช่วยให้ระบบการเรียนการสอนและการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีข้อมูลของผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ยังไม่มีระบบที่จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์โรคได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำน้อย จำเป็นจะต้องใช้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้น เอไอจะช่วยลดข้อจำกัดในด้านดังกล่าว ทั้งด้านกำลังคนและด้านการวิเคราะห์โรค

“ข้อกังวลเรื่องเอไอกับการรักษาผู้ป่วยนั้น ขณะนี้แพทย์ไม่ได้ใช้เอไอรักษาผู้ป่วย 100% แต่เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยวินิจฉัยซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยที่ทำงานควบคู่กับหมอ เอไอจะลดภาระงานที่ซ้ำซากและซ้ำซ้อน ท้ายที่สุดแล้วแพทย์จะเป็นคนสรุปการวินิจฉัยเองทั้งหมด"

ขณะนี้อยู่ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพและสร้างการเรียนรู้ให้เอไอ โดยแพทย์จะเป็นผู้ฝึกด้วยการป้อนข้อมูลโรคต่างๆ เข้าไปเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับเอไอ ในอนาคต การทำงานของเอไอจะแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกเทรนนิ่งจากหลายแห่ง ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล จึงยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมทำงานกับ สวทช. และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำไปให้เอไอเรียนรู้ เพิ่มศักยภาพ และสร้างวิวัฒนาการทางการแพทย์ของประเทศให้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย

ดันแผน AI ไทยปี 2 เรียนรู้โรค-ขับเคลื่อนวงการแพทย์

คลังข้อมูลการแพทย์

ด้าน นพ.ภัทรรินวินฑ์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการพัฒนา Medical AI ของทั้ง 3 หน่วยงาน ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้นักวิจัยด้านเอไอได้เข้าถึงคลังข้อมูลทางการแพทย์ เพราะการแชร์ข้อมูลร่วมกันจะทำให้เอไอมีฐานข้อมูลที่มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ กรมการแพทย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พัฒนา “AIChest4All” แพลตฟอร์มที่ช่วยให้แพทย์คัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอกและความผิดปกติอื่นๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำใน 1 นาที

แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก ภาพ MRI/CT มะเร็ง ภาพจอประสาทตา (มีการจัดการด้านข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ผ่านคณะกรรมการ Medical AI DATA Consortium) เพื่อให้สามารถนำความเชี่ยวชาญด้านเอไอเข้าไปเสริม ขยายผล และต่อยอดการใช้ประโยชน์ของข้อมูล

“เอไอทุกตัวที่นำไปช่วยแพทย์ทำงานจะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย ความถูกต้อง โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขึ้นทะเบียนมาตรฐานเป็นเครื่องมือแพทย์ให้มีความแม่นยำครบถ้วนที่สุด ในส่วนข้อมูลระบุตัวตนผู้ป่วยนั้นจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา นักวิจัยจะทราบแค่ว่าภาพนี้เป็นภาพของผู้ที่เป็นโรคหรือไม่”

แผนพัฒนาเอไอแห่งชาติ

ศ.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่างๆ

เช่น การจัดทำคู่มือจริยธรรมเอไอเล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เอไออย่างมีความรับผิดชอบ

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการเอไอบนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการลันตา (LANTA) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับการวิจัยของภาครัฐและเอกชน ด้านการพัฒนากำลังคน ขณะนี้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน AI ได้เห็นชอบภาพรวมข้อเสนอการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ในทุกระดับและทุกสาขาตรงตามความต้องการของเอกชน 

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ตอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท 

ที่สำคัญคือ จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ในปีที่ผ่านมา