ชาวไร่อ้อยถอยไม่ปิดโรงงานน้ำตาลแล้ว รมว.พาณิชย์ สั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา
สมาคมชาวไร่อ้อยถอยแล้ว! ยกเลิกปิดโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ หลัง 'รมว.พาณิชย์' สั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาจบภายใน 1 เดือน
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวปิดโกดังน้ำตาลทรายทั่วประเทศ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ว่า ทางนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเจรจาหาทางออกแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมกัน ชาวไร่อ้อยจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะระงับมาตรการปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศไว้ก่อน
จากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ชาวไร่อ้อยได้ชี้แจงอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เรามีกฎหมายกำกับอยู่ วันนี้อุตสาหกรรมอ้อยตาลทรายเราถูกบราซิลฟ้องอยู่ แล้ววันนี้เรากำลังแก้ต่างจวนจะจบสิ้นแล้ว แต่ถ้าเราย้อนกลับกลับไปที่เดิม เรามีการควบคุมสินค้าเมื่อไหร่ ประเทศไทยก็จะถูกบราซิลฟ้องขึ้นมาอีก การถูกฟ้องปัญหามันก็จะบานปลาย
วันนี้เราก็จะชี้แจงให้เห็นว่าการขึ้นราคาน้ำตาล ข้อที่หนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เราถูกฟ้อง ข้อที่สองการขึ้นราคาน้ำตาลนั้นส่งผลดี ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำให้ชาวไร่นั้นอยู่ได้ในอาชีพนี้ได้ ต้องเรียนย้อนอดีต ในสมัยท่านนายกสมัคร สุนทรเวช ท่านให้ความกรุณา กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยเฉพาะในส่วนของชาวไร่ในสมัยนั้น ได้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาล 5 บาท ซึ่งในจำนวน 5 บาทนั้นก็มาช่วยเหลืออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในฝั่งของชาวไร่ ทำให้ราคาอ้อยในปีไหนที่ตกต่ำ ก็สามารถมีเงินรักษาเสถียรภาพ อยู่ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถอยู่ได้ในอาชีพนี้อย่างราบรื่น มาโดยตลอด
ทันทีที่ท่านประกาศให้กับชาวไร่อ้อย 5 บาท ในปีนี้เรามีอ้อยทั้งหมดอยู่ 135,000,000 ตัน จากอ้อยแค่ 50,000,000 ตัน จนกระทั่งเมื่อปี 2161 รัฐบาลรัฐบาลสมัย คสช. ประเทศบราซิลได้ฟ้องประเทศไทย ว่าประเทศไทยนั้นอุดหนุนเกษตรกรการปลูกอ้อย นั่นก็หมายถึงตัวเลขที่ขึ้นในแต่ละ 5 บาท นั่นเอง ถือว่าเป็นการอุดหนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงทำให้เราถูกประเทศบราซิลฟ้อง เพราะการแข่งขันระหว่างประเทศทำให้เค้าเสียเปรียบเรา ซึ่งในเมื่อบราซิลฟ้องรัฐบาล รัฐบาลในยุค คสช. จึงได้ใช้มาตรา 44 สั่งให้น้ำตาลทรายหลุดออกจากสินค้าควบคุม และให้มีการลอยตัวน้ำตาล และงดการช่วยเหลือจากที่เคยได้รับการช่วยเหลือในสมัยท่านรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชจำนวน 5 บาท
ฉะนั้นหลังจากปี 2561 เป็นต้นมา ราคาอ้อยตกต่ำ ชาวไร่อ้อยก็ต้องรับภาระ ในราคาตกต่ำ กันมาโดยตลอด เพราะมันไม่เป็นทางเลือกอื่น ที่เราจะไปเรียกร้องอะไรได้ เพราะมันเป็นเรื่องระดับประเทศ ที่ประเทศเราถูกฟ้อง ฉะนั้นชาวไร่ต้องยอมรับสภาพนั้นมาตลอด ก็ขาดทุนกันมาโดยตลอด จากอ้อยรับ 135,000,000 ตัน วันนี้เราเหลืออ้อยแค่ 70,000,000 ตัน และในอนาคตเราก็คิดว่าจะต้องลดไปมากกว่านี้ เพราะทนสภาพภาวะขาดทุนไม่ไหว แต่ปรากฏว่าโชคดีที่จีนและตลาดโลกราคาน้ำตาลนั้นสูงขึ้น ซึ่งเวลาราคาน้ำตาลตลาดโลกขึ้นที่เราส่งไป เรียกว่าน้ำตาลทรายดิบ ส่วนน้ำตาลที่เรากินในประเทศไทย เราเรียกว่าน้ำตาลทรายขาว คือเป็นน้ำตาลคนละตัว ซึ่งราคาน้ำตาลตลาดโลก ในเมื่อสูงขึ้น แต่น้ำตาลราคาบริโภคภายใน กลับต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายดิบที่เราส่งไป
ดังนั้นพี่น้องชาวไร่อ้อยก็คิดว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาหนึ่ง ที่ควรจะมีการปรับราคาเพื่อให้ชาวไร่ได้มีโอกาสมีกำไรบ้างเพราะในหลายปีเราก็ขาดทุนมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งก็มาล้มหายตายจากไป เมื่ออยู่ในระบบไม่ได้ก็เลิกปลูกกันไป เมื่อเราได้โอกาสส่วนนี้ เพื่อให้รักษาอุตสาหกรรมนั้นอยู่ได้ เราจะได้ตัดสินใจที่จะขอขึ้นราคา จำนวน 4 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้แบ่งเป็นสองส่วน 2 บาท ส่วนแรกเรานำมาชดเชยจ่ายเพิ่มราคาให้กับชาวไร่อ้อยปีนี้ให้คุ้มกับต้นทุนการปลูกและมีกำไรเล็กน้อย ส่วนอีก 2 บาท จะเก็บไว้ในกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อไว้รักษาเสถียรภาพ ถ้าปีไหนราคาอ้อยนั้นตกต่ำ เราก็จะได้ไม่ต้องไปขอจากภาครัฐ เราก็สามารถดูแลกันเองได้
จากกรณีที่ผ่านมาเราได้ชี้แจงประเด็นต่างๆเหล่านี้ กับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งท่านก็ได้รับทราบปัญหา และเป็นแนวทางที่ดีที่ท่านเข้าใจถึงปัญหาในส่วนนี้ ท่านจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจะตกผลึกเรื่องนี้ให้จบภายในหนึ่งเดือน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีตัวแทนจาก กระทรวงสากรรม กระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนจากชาวไร่อ้อยอีกสี่คน ซึ่งจะไปทำความเข้าใจในเรื่องนี้ แล้วจะทำให้จบภายในหนึ่งเดือน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วไม่ว่าราคาอ้อยอาจจะไม่ถึง 4 บาทหรือมีแนวทางว่าจะทำอย่างไร ที่จะหาเงินมาชดเชย ก็คิดว่าคณะทำงานชุดนี้ก็จะตกผลึกภายในหนึ่งเดือน ซึ่งท่านรัฐมนตรีท่านบอกว่ายินดีที่จะแก้ไข ถ้าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ดังนั้นเมื่อวานนี้เราจึงมีการประชุมสี่องค์กรกันอีกครั้ง มติในที่ประชุมมีข้อสรุปว่า กรณีที่จะรวมกันปิดโรงงานในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ที่ได้ประกาศไปนั้นขอให้ยกเลิกกันไปก่อน เพื่อเจาะรอผลการประชุมของคณะกรรมการภายในหนึ่งเดือนนี้ จึงเป็นแนวทางที่ดีของรัฐมนตรีก็คาดว่าจะเป็นผลดีต่อพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยและจะเป็นผลดีกับผู้บริโภค ถึงแม้ตัวเลขจะไปไม่ถึงแต่เราก็ต้องถอยให้กัน
สำหรับจังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ในการเพาะปลูกอ้อยประมาณ 550,000 ไร่ และในปีที่ผ่านมาเรามีอ้อยหีบในจังหวัด 550,000 ตัน สวนอ้อยที่ขายในโรงงานข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นพิษณุโลกอุทัยธานีนครสวรรค์ อีกประมาณกว่า 1,000,000 ตัน ประมาณการจังหวัดกำแพงเพชรมีอ้อยอยู่ประมาณ 7,000,000 ตัน ในปีที่ดีที่สุดที่เราได้ตันละ 135 บาท เรามีอ้อยถึง 10,000,000 ตัน ที่หีบกันเองในจังหวัด ไม่รวมที่อ้อยออกไปยังต่างจังหวัด ในปีที่ผ่านมาเรามีอ้อยในจังหวัดจำนวน 5,000,000 ตัน มีรายได้ประมาณหกถึง 600-700 ล้านบาท
โดย พิพัฒน์ จงมีความสุข จ.กำแพงเพชร