สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 66

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 66 ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,761 ล้าน ลบ.ม.ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีหมอกในตอนเช้า ขณะที่ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,761 ล้าน ลบ.ม.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยมีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้

คาดการณ์ ในช่วง 6 – 10 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 4.พ.ย. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 4,467 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้

  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,761 ล้าน ลบ.ม. (77%)
  • ปริมาณน้ำใช้การ 39,593 ล้าน ลบ.ม. (68%)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่

เฝ้าระวังน้ำมาก 11 แห่ง

  • ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน และบึงบอระเพ็ด 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หนองหาร อุบลรัตน์ และลำปาว 
  • ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ 

ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย

เฝ้าระวังน้ำน้อย 2 แห่ง

  • ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด 

โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด  2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ  3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี 

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ –ไม่พบพื้นที่เสี่ยง-

สถานการณ์อุทกภัย

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 จังหวัด (กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี) รวม 12 อำเภอ 62 ตำบล 107 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 324 ครัวเรือน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง 

กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำเพื่อผลิตน้ำสะอาดสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ และศูนย์สาธิตและส่งเสริมศิลปาชีพภาคเหนือ ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่มากกว่า 350 คน มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ ในพื้นที่บ้านศรีสุข หมู่ที่ 7 ต.บ้านพร้าว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

วานนี้ (4 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ.ปลวกแดง จ.ระยอง  และติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลด้านแผนการพัฒนาแหล่งน้ำให้รองรับเขตเศรษฐกิจ EEC รวมทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำรับมือผลกระทบจากเอลนีโญด้วย

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงการขาดแคลนน้ำในการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ในบางพื้นที่ ซึ่งการใช้น้ำมีความสำคัญสำหรับประชาชน ทั้งด้านอุปโภคบริโภค ด้านการเกษตร การรักษาระบบนิเวศ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่ EEC ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ การใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ที่มีความต้องการใช้น้ำสูง

ทั้งนี้ ปัญหาของขัดแย้งของประชาชนในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เกี่ยวกับปัญหาการแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมาก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอ แผนการพัฒนารองรับความต้องการน้ำ การเชื่อมต่อท่อส่งจ่ายน้ำ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญการเชิญนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในด้านน้ำและพลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการที่จะดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่น ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น จึงไม่ยอมให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง สทนช. กรมชลประทาน กระทรวงอุตสาหกรรม บีโอไอ หากมีปัญหาติดขัดในเรื่องใดรัฐบาลพร้อมที่จะบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี และต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อมิให้มีความขัดแย้งจากการแย่งน้ำเกิดขึ้น