ผู้ว่าฯชัชชาติ เผยรถบรรทุกสิบล้อพบประวัติบรรทุกน้ำหนักเกิน 61.4 ตัน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พูดถึงประเด็นเหตุถนนทรุดตัวซึ่งเป็นฝาปิดอุโมงค์สายไฟฟ้าและสายสัญญาณ บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1 เผยรถบรรทุกสิบล้อที่เกิดเหตุมีประวัติบรรทุกน้ำหนักเกินถึง 61.4 ตัน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พูดถึงประเด็นเหตุถนนทรุดตัวซึ่งเป็นฝาปิดอุโมงค์สายไฟฟ้าและสายสัญญาณ บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1 จนทำให้รถบรรทุกสิบล้อตกลงไปในบ่อจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เป็นไรเดอร์และคนขับแท็กซี่ ผู้ว่า กทม. ระบุว่า รถบรรทุกสิบล้อที่เกิดเหตุมีประวัติบรรทุกน้ำหนักเกิน ถึง 61.4 ตัน
โดย นายชัชชาติ ระบุว่า พบข้อมูลว่ารถบรรทุกคันที่เกิดเหตุเคยบรรทุกน้ำหนักเกินถึง 61.4 ตัน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตามกฎหมายทางหลวงท้องถิ่นกำหนดให้รถสิบล้อบรรทุกได้ไม่เกิน 25 ตัน แต่สำหรับรถขนาดนี้อาจบรรทุกได้ถึง 30 ลบ.ม. หรือประมาณ 45 ตัน อันนี้คือคำนวณจากขนาดที่เห็น ซึ่งจำเป็นต้องพิสูจน์ต่อไป
เรื่องน้ำหนักบรรทุก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนพอสมควร ต้องบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของ กทม. ร่วมกับทางตำรวจด้วย ปัจจุบัน พ.ร.บ.ทางหลวง กำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลทางหลวงท้องถิ่น กทม.จึงเป็นผู้ออกกฎน้ำหนักบรรทุกเอง ซึ่งได้ออกไปแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันโทษของผู้กระทำผิดในการบรรทุกน้ำหนักเกิน คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยโทษนี้บังคับใช้เพียงแค่คนขับรถเท่านั้น
สำหรับการบังคับใช้ที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ชั่งน้ำหนักรถบรรทุกเพราะรถบรรทุกไม่ได้วิ่งเฉพาะใน กทม. แต่จะออกไปทางหลวง หรือทางหลวงชนบทรอบนอก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วด่านชั่งน้ำหนักจะอยู่พื้นที่นี้ ส่วนเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ กทม.จับกุมต้องส่งตำรวจดำเนินคดีเพราะเป็นคดีอาญา เพราะฉะนั้น การดำเนินการในอนาคตคงต้องจัดชุดร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่มีเครื่องชั่งน้ำหนักในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้ได้เครื่องชั่งน้ำหนักจากกรมทางหลวงมาแล้ว 1 ตัว วันนี้น่าจะได้ลงไปทำให้เห็นว่ากระบวนการทำงานร่วมกันนั้นเป็นอย่างไร และอนาคต กทม.ต้องมีเครื่องชั่งเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ เรื่องน้ำหนักเราไม่ได้ไว้วางใจตั้งแต่ออกประกาศไป เราก็มีกระบวนการทำงานร่วมกับนักวิจัยในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งการตั้งด่านในเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะส่งผลกระทบหลายด้าน ตามหลักที่คิดคือจะเอาตัววัดไปอยู่บนสะพานต่างๆ เรียกว่า Weigh-In-Motion (WIM) ซึ่งได้มีการจ้างคณะอาจารย์เมื่อ 2 เดือนที่แล้วเพื่อทดลองใช้ และได้ส่งทะเบียนรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุไปดูในฐานข้อมูลซึ่งได้ประวัติออกมาว่าเคยตรวจวัดได้ว่าบรรทุกน้ำหนักเท่าไหร่ แต่ตรงนี้ยังเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำให้รอบคอบเพราะสามารถเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ และขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่ามีความผิด แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ากทม.เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้แล้ว
ดังนั้น การดำเนินการในระยะสั้น กทม.จะร่วมกับกรมทางหลวงในการนำเครื่องชั่งน้ำหนักมาใช้ตรวจวัด และสั่งการให้สำรวจไซต์งานก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 317 แห่ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสำรวจตรวจสอบไซต์งานของตัวเอง รวมถึงฝาบ่อ 879 บ่อ ระยะกลาง กทม.จะติดตั้งระบบ Weigh-In-Motion ให้มากขึ้น เพื่อทำให้การวัดมีมาตรฐาน รวมไปถึงเรื่องกฎหมายต้องเสนอทางรัฐบาลในการปรับให้เข้มข้นมากขึ้น
เนื่องจากมีพ.ร.บ.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน และต้องประสานกับตำรวจให้มากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่เทศกิจกทม.มีอำนาจจับกุมและต้องส่งต่อให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดี แต่การปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมให้ผู้กระทำผิดขับรถไปพบตำรวจ นอกจากนี้จะมีการถอดบทเรียนในครั้งนี้ เพื่อนำมาปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ชัดเจนของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กทม.จะให้สำนักการโยธาปรับเงื่อนไขการออกใบอนุญาตก่อสร้าง หากตรวจพบว่าไซต์ก่อสร้างใดมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจะให้ระงับการก่อสร้างทันที ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และรถบรรทุกน้ำหนักเกินด้วย ซึ่งวานนี้ได้มีการหารือกับ รองผบ.ตร.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ในเรื่องของการบูรณาการปรับปรุงหลักเกณฑ์ร่วมกัน เช่น การกำหนดเวลาวิ่งของรถบรรทุก การแก้ปัญหาจุดฝืดการจราจร การแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน การก่อสร้างของหน่วยงานอื่น เป็นต้น โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้สิ่งที่ประชาชนจะช่วยได้คือเมื่อพบการกระทำผิดให้ร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ของกทม.อีกทางหนึ่ง