คณะสมาคมนักข่าวไทยฯ เยือนสมาคมนักข่าว สปป.ลาว เชื่อมสัมพันธ์สื่อ 2 ประเทศ
คณะสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เยือนสมาคมนักข่าว สปป.ลาว เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน 2 ประเทศ
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นายวัศยศ งามขำ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และอุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ พร้อมคณะผู้บริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เดินทางเยือนสปป.ลาว เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน สปป.ลาว ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวสปป.ลาว ในระหว่างวันที่ 5-9 พ.ย. 2566 เป็นเวลา 5 วัน
โดยมีนายสะวันคอน ราชมนตรี ประธานสมาคมนักข่าวสื่อมวลชนสปป.ลาว นายวรศักดิ์ ประวงเวียงคำ รองผู้อำนวยการวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ และนายขุนทอง กองมณี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และกิจกรรม สมาคมนักข่าวสปป.ลาวได้ร่วมให้ต้อนรับคณะสื่อมวลชนไทย ก่อนเดินทางเข้าพบนางมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว กล่าวให้การตอนรับว่า ยินดีต้อนรับที่สื่อมวลชนไทยได้เดินทางมาเชื่อมความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนลาว เพื่อยกระดับองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับราชอาณาจักรสปป.ลาว นำไปใช้ในการรายงานข่าวอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
สำหรับ สปป.ลาว และประเทศไทย มีวัฒนธรรม ใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้ประชาชน 2 ประเทศไปมาหาสู่กันอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุนดำเนินร่วมกันมาเป็นเวลานาน ทำให้ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 รองจากประเทศจีน แต่ในช่วงหลังมานี้นักลงทุนจากเวียดนามได้เข้ามาบุกตลาด สปป.ลาวเป็นจำนวนมาก ทำให้การลงทุนประเทศไทยเสี่ยงอาจล่วงอยู่อันดับ 3 ดังนั้นการเดินทางมาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้เพื่อประชุมหารือทวิภาคีจะสามารถช่วยยกความสัมพันธ์ระหว่าง2 ประเทศในหลายมิติได้เป็นอย่างดี
ในส่วนสถานทูตไทยก็มีโครงการยกระดับด้านกระบวนการยุติธรรมด้วยการเชิญตัวแทน ปปส. อัยการ และกองพิสูจน์หลักฐานของประเทศไทย เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ในกระบวนการสอบสวน และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญาร่วมกันให้เป็นไปตามหลักสากล
จากนั้นคณะเดินทางเข้าพบหารือกับท่านโพสี แก้วมณีวงศ์ รมช. สารสนเทศวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ข้อมูลข่าวสารระหว่างสื่อมวลชนไทย-ลาว โดยท่านโพสี กล่าวว่า ยินดีที่สื่อมวลชนระหว่าง 2 ประเทศมีความร่วมมือกัน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสื่อสารมวลชนมาเป็นเวลานานที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง 2 ประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นผู้มีประสบการณ์ทางด้านการทำข่าวมากกว่าสื่อมวลชนลาว
แต่เนื่องด้วยต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวก ทำให้ความร่วมมือต้องหยุดชงักขาดหายไปชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายดีขึ้นความร่วมมือของสื่อมวลชน 2 ประเทศก็ได้กลับคืนมาเชื่อมความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันอีกครั้ง โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม Training to Trainer มีการเชิญสื่อมวลชนจากสปป. ลาว 12 ท่าน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ทางเราจะนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดพัฒนาให้กับสื่อมวลชนต่อไป โดยเฉพาะการสกัดกั้นเข้าเฟสนิวบนโซเชียลมีเดียอันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ด้านนายมงคล และนายชวรงค์ ได้แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาข้อมูลปลอมการหลอกลวงบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประสบกับสังคมในประเทศ สปป. ลาวเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยนายชวรงค์ได้แลกเปลี่ยนว่า ในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีโทษที่ค่อนข้างหนักสำหรับการนำเข้าข้อมูลเท็จ และหากพบว่ามีการเปิดบัญชีเพื่อ การรับโฆษณาหรือรับเงินที่หลอกลวง ก็จะมีช่องทางสำหรับการติดตามเพื่อนำตัวมาลงโทษ
ขณะที่นายมงคลแนะนำว่า การต่อสู้กับข้อมูลปลอมที่ดีที่สุดก็คือการนำเสนอข้อมูลจริง จากแหล่งที่เชื่อถือได้เป็นการตอบโต้ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ว่าข้อมูลข่าวสารจากสื่อใดที่มักจะปล่อยข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ และสอนให้ประชาชนเรียนรู้ภัยจากการได้รับข้อมูลปลอม
นอกจากนี้นายมงคลยังได้ฝากผ่านไปยังรัฐบาล สปป.ลาว ขอให้ช่วยดูแลหลักเกณฑ์กฎระเบียบสำหรับนักลงทุนไทยให้มีมาตรฐานความเท่าเทียม กับนักลงทุนชาติอื่นๆ ซึ่งการรักษามาตรฐานจะเป็นประโยชน์ต่อ สปป.ลาวเอง เพราะจะเกิดการแข่งขันเสรีทางการค้าไม่ถูกนักลงทุนกลุ่มใดผูกขาดได้ง่าย
ต่อจากนั้นผู้บริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและ สมาคมนักข่าว สปป.ลาว ได้ประชุมหารือร่วมกัน หรือภายใต้กรอบของ MOU ที่ได้ลงนามไปเมื่อปีที่ผ่านมาและยังมีผลบังคับอยู่ โดยลงรายละเอียดถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นตาม MOU เช่นการแลกเปลี่ยนเหย้าเยือน การสนับสนุนการจัดอบรมแก่สื่อมวลชน สปป. ลาว การติดตามความคืบหน้าของคู่มือสื่อไทย-ลาวฉบับ E-book โดยมีข้อเสนอให้ตั้งผู้รับผิดชอบและกำหนด Timeline ในการทำให้สำเร็จก่อนการมาเยือนไทยของผู้แทนสมาคมนักข่าวลาวในปีหน้า เพื่อจะได้จัดแถลงข่าวรับรู้ร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนของไทยและ สปป.ลาว
นอกจากนี้ยังได้พูดถึงการร่วมมือในระดับหน่วยงานรัญ ได้แก่กรมประชาสัมพันธ์กับกรมแถลงข่าวของ สปป. ลาว หรือในระดับขององค์กรสื่อมวลชนด้วยกันระหว่างไทยและ สปป.ลาว เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต