สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ย. 66
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ย. 66 ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 10 แห่ง ขณะที่ทั่วไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ย. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คาดการณ์ ช่วงวันที่ 14-15 พ.ย. 66 ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนวันที่ 16 พ.ย. 66 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนอง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 12.พ.ย. 66 น้อยกว่า ปี 2565 จำนวน 3,997 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
- ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,033 ล้าน ลบ.ม. (78%)
- ปริมาณน้ำใช้การ 39,865 ล้าน ลบ.ม. (69%)
การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดใหญ่
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 10 แห่ง
- ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว
- ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์
- ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมต่ำสุด 5 แห่ง
- ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: หนองหาร
- ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2566 ลงวันที่ 12 พ.ย. 66 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้
สทนช. ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ และได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ โดยมีพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคใต้ ต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 14 – 18 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้
เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
- จ.ชุมพร (อ.เมืองชุมพร ปะทิว และหลังสวน)
- จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ)
- จ.สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ท่าชนะ ไชยา พุนพิน กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก บ้านนาสาร เกาะสมุย และเกาะพะงัน)
- จ.นครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล นบพิตำ ลานสกา ท่าศาลา ปากพนัง ชะอวด และหัวไทร)
- จ.พัทลุง (อ.บางแก้ว ป่าบอน เขาชัยสน อ.เมืองพัทลุง และปากพะยูน)
- จ.สงขลา (อ.ระโนด สะทิงพระ สิงหนคร จะนะ สะเดา และเทพา)
- จ.ปัตตานี (อ.เมืองปัตตานี หนองจิก และแม่ลาน)
- จ.นราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ เจาะไอร้อง ตากใบ สุไหงโก-ลก และสุคิริน)
- จ.ยะลา (อ.เมืองยะลา รามัน ยะหา และบันนังสตา)
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.ระนอง และสุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ
สถานการณ์น้ำท่า
- สถานการณ์น้ำท่าประเทศไทย
สถานการณ์น้ำส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง ยกเว้น บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- สถานการณ์น้ำท่าแม่น้ำโขง
คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วง 5 วันข้างหน้าพบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้น 1 สถานี คือ สถานีเชียงแสน แนวโน้มลดลง 4 สถานี คือ เชียงคาน หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร แนวโน้มทรงตัว 1 สถานี คือ โขงเจียม
กองทัพบก ร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง อ.สะเดา จ.สงขลา ได้ลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาน้ำค้างชายแดนไทย-มาเลเซีย ไหลบ่าทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านน้ำลัด ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่หมู่ 2 ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา เกือบทั้งหมู่บ้านประมาณ 400 ครัวเรือน โดยช่วยขนย้ายสิ่งของไปไว้ที่สูงและอพยพชาวบ้านในกรณีที่จำเป็นต้องออกจากบ้าน