เชียงราย เร่งพัฒนาท่าเรือเชียงแสน ส่งออกสินค้าทางเรือน้ำโขง
คมนาคมรุดอัพเกรดท่าเรือเชียงแสน ยกระดับการขนส่งสัตว์มีชีวิตไปจีน ส่งออกพืชผักผลไม้ทางเรือน้ำโขง
วันนี้ (13 พ.ย. 66) ที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ต.สบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายสุรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมช.คมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายกริชเพชร ชัยช่วย รก.อธิบดีกรมเจ้าท่า นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.เชียงราย ฯลฯ ได้ไปตรวจเยี่ยมท่าเรือดังกล่าว ซึ่งติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว และหารือเรื่องการพัฒนาท่าเรือให้มีการขนส่งสัตว์มีชีวิต เช่น โคกระบือ ฯลฯ โดยมีตัวแทนฝ่ายปกครอง จ.เชียงราย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.ด่านศุลกากรเชียงแสน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายเกรียงไกร กล่าวว่า หลังการประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย กทท. จะได้เร่งพัฒนาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ท่าเรือเชียงแสนเพื่อขนถ่ายโคกระบือ เช่น กรมเจ้าท่า ด่านกักสัตว์เชียงราย ฯลฯ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศและข้อบังคับ รวมถึงป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนด่านกักสัตว์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็จะได้หารือถึงขั้นตอนการส่งออกเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เป็นไปด้วยดี โดยเมื่อ 3-4 เดือนก่อน ผู้ว่าการเมืองจิ่งหง มณฑลยูนนาน ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนข้อหารือกับ จ.เชียงราย และท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เพื่อผลักดันให้มีการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ให้มากขึ้น ในที่ประชุมได้มอบหมายให้ กทท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องระเบียบกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 สามารถขนส่งสัตว์มีชีวิตได้สำเร็จ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความคืบหน้าด้วย
ทั้งนี้ ท่าเรือดังกล่าวสร้างเสร็จเมื่อปี 2554 มีเนื้อที่ 387 ไร่ มีระบบอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า สามารถรองรับเรือขนาด 500 ตันได้พร้อมกัน 10 ลำ ผลประกอบการน้อยนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และในปี 2566 มีรายได้ 16.42 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายถึง 24.03 ล้านบาท กระนั้นยังคงมีเรือเข้าใช้บริการตลอดปี ทั้งสัญชาติไทย จีน สปป.ลาว และเมียนมา จำนวน 2,944 เที่ยว เพื่อขนสินค้าประเภทถั่ว เบียร์ งา น้ำมัน ข้าว ฯลฯ โดยมีปริมาณส่งออก 85,420 เมตริกตัน และนำเข้า 3,548.27 เมตริกตัน ปัญหาและอุปสรรคคือตั้งอยู่ในระยะทางที่ห่างไกลกว่าท่าเรือเอกชนทำใช้ต้นทุนสูงกว่า และไทยกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญไม่มีพิธีสารในการขนส่งสินค้าผักและผลไม้ทางแม่น้ำโขง และไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหมือน สปป.ลาว และเมียนมา ที่มีดินแดนติดกับจีน
ดังนั้น กทท. จึงมีพัฒนาหลายโครงการ เช่น โครงการเขตปลอดอากร โครงการความร่วมมือกับท่าเรือกวนเหล่ยของจีน โครงการสัตว์ส่งออกมีชีวิตดังกล่าวซึ่งวางแผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2569-2570 โดยจะใช้พื้นที่แนวลาดฝั่งทิศใต้ของท่าเรือหลังจากที่ในปัจจุบันมีการใช้ท่าน้ำบริเวณด่านกักสัตว์เชียงแสนเป็นสถานที่ขนถ่าย
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การพัฒนาการค้าเส้นทางแม่น้ำโขงควรทำศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเขตปลอดอากร เพื่อรองรับการค้ากับ สปป.ลาว เมียนมา และมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน และมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 160 ล้านคน ส่วนการส่งสินค้าไปยังประเทศจีนสามารถใช้กรอบความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องเชียงราย-ยูนนาน หรือกรอบความร่วมมือแม่โขง ล้านช้าง ซึ่งในระดับรัฐบาลสามารถหารือได้ นอกจากนี้หากมีคลังน้ำมันปลอดอากรสำหรับเรือที่จะเดินทางออกไปต่างประเทศก็จะทำให้การขนส่งทางเรือแม่น้ำโขงคึกคักขึ้นเพราะใช้ต้นทุนต่ำที่สุด