สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 พ.ย. 66

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 พ.ย. 66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 พ.ย. 66 ประเทศไทยตอนบน มีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ภาคใต้ตอนล่าง ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,086 ล้าน ลบ.ม. (78%)

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ ภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 พ.ย. 66 โดย สภาพอากาศวันนี้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

คาดการณ์ วันที่ 21–24 พ.ย. 66 มวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 18.พ.ย. 66 น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 3,878 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้

  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,086 ล้าน ลบ.ม. (78%)
  • ปริมาณน้ำใช้การ 39,918 ล้าน ลบ.ม. (69%)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่

ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 11 แห่ง

  • ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว
  • ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล และหนองปลาไหล

ระดับน้ำเกินระดับควบคุมต่ำสุด 4 แห่ง

  • ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา
  • ภาคกลาง : กระเสียว
  • ภาคตะวันออก : คลองสียัด

โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด  

2) ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง

3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่     

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และนราธิวาส 

 

มาตรการและการช่วยเหลือ

กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้สามารถส่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมทรัพยากรน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12  นิ้ว เพื่อสูบน้ำท่วมขัง พื้นที่เกษตรนาข้าวและชุมชนที่อยู่อาศัยของประชาชนเขตเทศบาลตำบลบ้านด่าน อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เนื่องจากมีฝนตกหนัก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้มีประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 4 หมู่บ้าน 1,181 ครัวเรือน 3,376 คน พื้นที่เกษตรนาข้าว โดยประมาณ 800 ไร่ ปัจจุบันสูบระบายน้ำท่วมขังได้แล้วทั้งสิ้น 231,200 ลูกบาศก์เมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการจนกว่าเข้าสู่ภาวะปกติ

แนวทางการบริหารจัดการน้ำ

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามโครงการร่วมการบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2  โดยมี นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. พร้อมด้วย อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากราชอาณาจักรกัมพูชา ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนความก้าวหน้าจากการประชุม RSC ครั้งที่ 1 พร้อมทั้งสรุปการดําเนินการและกิจกรรมโครงการร่วมฯ และข้อเสนอแนะ ต่อแนวทางการออกแบบระบบเตือนภัยน้ำท่วมและภัยแล้งข้ามพรมแดนสําหรับลุ่มน้ำย่อย (9C-9T) รวมทั้งเพื่อรับข้อเสนอแนะจากประเทศสมาชิก เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของ Early..warning..system..(EWS) และการติดตามน้ำท่วมและภัยแล้งในประเทศไทยและกัมพูชา รวมถึงแผนงานการดําเนินงานต่อไปในปี 2024 ณ โรงแรม แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เทอมินัล 21 ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน   

น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน