สทนช. เกาะติดฝนตกหนักภาคใต้ บูรณาการหน่วยงานพร้อมรับมืออุทกภัย

สทนช. เกาะติดฝนตกหนักภาคใต้ บูรณาการหน่วยงานพร้อมรับมืออุทกภัย

สทนช. เกาะติดฝนตกหนักภาคใต้ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ บูรณาการทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ชี้เป้าจุดเสี่ยง แจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ

วันนี้ (21 พ.ย. 66) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ครั้งที่ 1/2566 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ  สทนช. และนายอนัตน์ เพ็ชรหนู ผู้อำนวยการ สทนช.ภาค 4 พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบัญชาการกองทัพไทย เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และผ่านผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

สทนช. เกาะติดฝนตกหนักภาคใต้ บูรณาการหน่วยงานพร้อมรับมืออุทกภัย

รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคใต้ได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดย สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มีลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ประกอบกับการคาดการณ์ฝน (One Map) มีโอกาสที่จะมีฝนตกในภาคใต้มากกว่าปกติ เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำได้

โดยในช่วง 2 สัปดาห์นี้จะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจากการคาดการณ์ช่วงวันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน 2566 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ จ.สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา รวมทั้ง จ.พัทลุงและนครศรีธรรมราช และหลังจากนั้นในช่วงวันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2566 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และมีน้ำทะเลหนุน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ รวมทั้งสถานการณ์น้ำที่มีระดับเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ

สทนช. เกาะติดฝนตกหนักภาคใต้ บูรณาการหน่วยงานพร้อมรับมืออุทกภัย

 

ซึ่งปัจจุบันได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและมีพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และนราธิวาส นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำเกิน 80% ไปแล้ว จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหาดส้มแป้น จ.ระนอง อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จ.ภูเก็ต อ่างเก็บน้ำบางทรายนวล อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง จ.สุราษฎร์ธานี อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด จ.กระบี่ อ่างเก็บน้ำคลองกระทูน จ.นครศรีธรรมราช อ่างเก็บน้ำคลองทรายขาว และอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว จ.ตรัง 

สทนช. เกาะติดฝนตกหนักภาคใต้ บูรณาการหน่วยงานพร้อมรับมืออุทกภัย

รัฐบาลมีความห่วงใยในสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมให้แก่ประชาชนอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว รวมทั้งเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และเตรียมความพร้อมรับมือฝนที่คาดว่าจะตกหนักในช่วงเดือนธันวาคม 2566 - เดือนมกราคม 2567 โดยการตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยเป็นหนึ่งใน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำร่วมกันในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยให้เกิดความเป็นเอกภาพด้วย” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติม 

ด้าน ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องในการวางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งการประชุมในวันนี้ได้เห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และได้ใช้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันด้านการบริหารจัดการน้ำและเผชิญเหตุทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อติดตาม วิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน รวมถึงต้องเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ และให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน มีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน 2 ศูนย์ ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน ศูนย์ประชาสัมพันธ์ และศูนย์ประสานการปฏิบัติ

สทนช. เกาะติดฝนตกหนักภาคใต้ บูรณาการหน่วยงานพร้อมรับมืออุทกภัย