เช็ก 3 อันดับ เรื่องที่ผู้บริโภคร้องทุกข์มากสุดในปี 2566
'สภาองค์กรของผู้บริโภค' เผย 3 อันดับ ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องทุกข์มากสุดในปี 2566 สินค้าและบริการทั่วไปทะลุ 10,150 เรื่อง
สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ 'สภาผู้บริโภค' เผยได้รวบรวมข้อมูลและรายงานสถานการณ์ในปีงบประมาณ 2566 (เดือนตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) พบมี 'ผู้บริโภค' จากการรับเรื่องร้องทุกข์ทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานสภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดใน 15 จังหวัด และองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค โดยในปีนี้มีผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ร้องทุกข์เข้ามาเป็นจำนวน 16,142 เรื่อง
ซึ่ง 'สภาผู้บริโภค' ได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 12,837 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 79 และสามารถคิดรวมเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถึง 71,703,984.46 บาท ส่วนที่เหลืออีก 3,305 เรื่อง อยู่ระหว่างการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม กรณีใดที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือยุติปัญหาได้ สภาผู้บริโภคจะเดินหน้าสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค
เมื่อลงรายละเอียดในภาพรวมเรื่องร้องทุกข์ที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในปีงบประมาณ 2566 ปัญหาที่มีผู้ร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคมากที่สุด คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 10,150 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 62.88 เกินครึ่งหนึ่งของเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าเรื่องร้องทุกข์ในปีงบประมาณ 2565 ถึง 7,875 เรื่อง
ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มซาลง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการบันเทิง อาทิ คอนเสิร์ต แฟนมีทติ้ง หรืองานอีเว้นท์ต่างๆ ได้เริ่มกลับมาจัดงาน เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบริการเหล่านี้ก็ได้พบกับปัญหาที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับ 'ข้อสัญญา' เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผังคอนเสิร์ต การสมัครสมาชิกแต่ไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุ การจัดงานที่ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ในครั้งแรก ไม่สามารถคืนบัตรได้ แจ้งราคาบัตรโดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าธรรมเนียม การประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน รวมถึงราคาบัตรที่แพงเกินไป ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนได้รับความเดือดร้อนในปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันจึงได้ส่งเสียง ส่งต่อช่องทางและร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคถึง 5,906 เรื่อง
นอกจากประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัญญาในด้านสินค้าฯ ข้างต้น ปัญหาการซื้อสินค้าทางออนไลน์และปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการเข้าไปใช้บริการเสริมความงามเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในจำนวนใกล้เคียงกัน 1,474 เรื่อง และ 1,110 ตามลำดับ
สำหรับการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์นั้นส่วนใหญ่เป็นกรณีการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าในเฟซบุ๊กแฟนเพจ แต่ไม่ได้รับสินค้าและไม่ได้รับเงินคืน หรือการได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อไป ซึ่งผู้บริโภคมักถูกหลอกหลวงจากการที่มิจฉาชีพซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊กโปรโมทสินค้าหรือเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจขายสินค้า โดยในช่วงแรกทำทีส่งสินค้าให้เพื่อให้มีเครดิตว่าเป็นร้านค้าที่ไม่ได้คิดจะหลอกลวง เพราะมีผู้บริโภคการันตีว่าได้รับสินค้า แต่เมื่อผ่านไปสักพักจนผู้บริโภครายอื่นๆ หลงเชื่อ จึงจะหลอกให้โอนเงินแต่สุดท้ายกลับไม่ส่งสินค้าให้
ส่วนในกรณีการได้รับความเสียหายจากการเข้าไปใช้บริการเสริมความงามนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับกรณีของการจองหรือกดบัตรคอนเสิร์ต แต่คลินิกหรือสถานเสริมความงามกลับผิดสัญญาตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่ครั้งแรก โดยผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียนกรณีสถานเสริมความงามนั้นได้รับความเสียหายจากการที่คลินิกหรือสถานเสริมความงามอ้างว่าปิดปรับปรุงหรือปิดกิจการ ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้บริการได้ จนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน
ส่วนปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากเป็นอันดับ 2 ได้แก่ ปัญหาด้านการเงินและการธนาคาร จำนวน 2,084 กรณี หรือคิดเป็นร้อยละ 12.91 ซึ่งสัดส่วนการร้องทุกข์เข้ามานั้นน้อยกว่าในปีงบประมาณ 2565 แต่กลับเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และในปัจจุบันยังคงมีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการเคลมประกันโควิดหรือถูกปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน สภาผู้บริโภคจึงได้ช่วยเหลือผู้เอาประกันที่ถูกปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
1) ติดต่อและประสานงานกับบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของกรมธรรม์เพื่อให้จ่ายค่าสินไหมให้กับผู้บริโภค แต่ทั้งนี้จากการเจรจาไกล่เกลี่ยพบว่าบางกรณีมีปัญหาเรื่องการออกใบรับรองแพทย์ สภาผู้บริโภคจึงได้แจ้งผู้เอาประกันเข้าไปแก้ไขใบรับรองแพทย์และยื่นขอเคลมค่าสินไหมอีกครั้ง
2) สภาผู้บริโภคเป็นที่ปรึกษาให้ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง กรณีที่บริษัทฯ ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนได้
3) ฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค ในการยื่นฟ้องทิพยประกันภัยที่ขอยื่นเป็นคดีกลุ่มนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศาลชั้นต้นนัดไต่สวนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายและตัวแทนจากบริษัททิพยประกันภัย
อันดับ 3 เป็นปัญหาด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 918 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.69 กรณีการถูกหลอกลวงจากข้อความสั้น (SMS) ที่มิจฉาชีพส่งเข้ามาบนโทรศัพท์ของผู้บริโภคและแนบลิงก์มาให้กด ยังเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคพบไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเผลอกดอาจสูญเงินหรือถูกขโมยข้อส่วนตัว
และประเด็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องทุกข์เข้ามาในด้านการสื่อสารมากไม่แพ้กันคือการถูก 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' โทรเข้ามาและอ้างว่ามาจากหน่วยงานหรือองค์กรของภาครัฐ รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงโดยใช้เทคโนโลยีปลอมเป็นเสียงของบุคคลที่รู้จักและหลอกให้โอนเงิน
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยังคังเดินหน้าเสนอแนะ ผลักดันนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการผลักดันเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและแรงผลักดันจากประชาชนทุกคนในการกระตุ้นและกดดันให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
ข้อมูลจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค