'สมศักดิ์' ห่วงภาคอีสานแล้ง ลุยขับเคลื่อนจัดการน้ำ เตรียมรับมือเอลนีโญ
"สมศักดิ์ เทพสุทิน" ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน สั่งทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 อย่างเคร่งครัด ย้ำต้องเตรียมการรองรับหากเกิดสถานการณ์แล้ง และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
วันนี้ (3 ธ.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จ.อุบลราชธานี พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงเช้า รองนายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ชี มูล และบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จากนั้นลงพื้นที่เดินทางตรวจดูงานธนาคารน้ำใต้ดิน 3 จุด ในพื้นที่ ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน ประกอบด้วย ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 10 บ้านสุขวัฒนา หมู่ที่ 2 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน หมู่ที่ 1 และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน หมู่ที่ 13 ก่อนเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ จากโรงเรียนบ้านเก่าขาม ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน เพื่อตรวจติดตามสภาพน้ำในแม่น้ำชี
โดย นายสมศักดิ์ ได้กล่าวมอบนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากสภาวะเอลนีโญจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้จนถึงปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องเร่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำและการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร และกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งนี้ หน่วยงานจะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบและมีแผนเตรียมการรองรับอย่างเคร่งครัดหากเกิดสถานการณ์แล้ง โดยมอบหมายให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 67 อย่างเคร่งครัด
พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้าเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนป้องกันปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยให้มีความพร้อมในการเข้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ในทันที รวมถึงให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง
นอกจากนี้ ให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารน้ำใต้ดิน โดยธนาคารน้ำใต้ดินเป็นการบริหารทรัพยากรน้ำในรูปแบบหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สทนช. จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยป้องกัน บรรเทา แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำน้อยที่สุด รวมทั้งจะเร่งขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ โดยโครงการสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 67 มีจำนวน 8 โครงการ
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 36,865 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 91 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ครัวเรือนรับประโยชน์ 147,179 ครัวเรือน พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 8,225 ไร่ อาทิ ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี จ.อุดรธานี จัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่าฯ จ.นครราชสีมา ก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ประตูระบายน้ำห้วยอาฮง จ.บึงกาฬ เป็นต้น
และมีโครงการสำคัญในปี 68-70 จำนวน 26 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 650,854 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 369 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 81,945 ครัวเรือน พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 15,083 ไร่ อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยคุกหมี จ.อุดรธานี ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาย จ.เลย ปรับปรุงเพิ่มระดับเก็บกักหนองหวาย จ.ขอนแก่น เป็นต้น