นวัตกรรมสังคมที่ดี เพื่อการพัฒนาประเทศ
นวัตกรรมสังคม หมายถึง การคิดค้นใหม่เรื่องการแสวงหา เผยแพร่ จัดการความรู้ในการบริหารจัดการทางสังคม และในการใช้ชีวิตแบบรวมหมู่ของคนในสังคม
การคิดค้นใหม่ทางสังคมสำคัญไม่น้อยกว่านวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ้าไม่มีนวัตกรรมสังคมที่ดี นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีก็ยากที่เกิดได้ในสังคมไทย หรือถึงเราจะซื้อจากต่างประเทศมาใช้ได้
แต่ถ้าเราประยุกต์ใช้ไม่เป็น การบริหารจัดการในการใช้ทำได้ไม่ดีพอ ก็จะได้ผลลัพธ์น้อย หรือแม้แต่เกิดผลเสียได้
การที่เราจะคิดค้นใหม่ทั้งทางสังคมและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีได้ ต้องส่งเสริมความอยากรู้ อยากเห็น การคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็ก กระบวนการจัดการศึกษา รวมทั้งการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ด้วย
ต้องเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินมากขึ้น คิดอย่างมีเหตุผล คิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ (ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน กระทบทางบวกและทางลบอย่างรอบด้าน) มากกว่าการท่องจำข้อมูล
ฝึกวิธีคิด วิธีศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (วิชาการ) เพื่อหาความจริง สำรวจค้นคว้า หาหลักฐานเชิงประจักษ์ พิสูจน์ ใช้หลักเหตุผล ความสอดคล้องต้องกัน รวมทั้งต้องฝึกการมองปัญหาอย่างรอบด้าน
บูรณาการเชื่อมโยงทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ความคิดจิตใจ ฯลฯ อย่างเชื่อมโยงกัน หรืออย่างเป็นระบบองค์รวม
นอกจากนี้แล้ว การฝึกการศึกษาเพื่อรู้จักตนเอง วิเคราะห์ประเมินตนเองได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เราจะได้มองปัญหาอย่างวัตถุวิสัย (Objective) เป็นกลาง ลดอคติ และเข้าใจความจริงทางสังคม ปัญหาและแนวทางแก้ไขได้ดีขึ้น
เพราะโดยทั่วไป คนเรามักจะคิดแบบอัตวิสัย เอาความคิดความเชื่อของตนเองเป็นที่ตั้ง โดยที่บางทีไม่รู้ตัว นักวิชาการที่เรียนมาเยอะ หลายคนก็เป็นกันแบบนี้
เรื่องการพัฒนาประเทศ ควรจะมองปัญหาทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อเห็นแบบภาพเคลื่อนที่ว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดมา ไม่ใช่ภาพหยุดนิ่ง และในเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาการเมืองด้วย
เพื่อเราจะได้เข้าใจภาพใหญ่ ทั้งเรื่องระบบโครงสร้าง รากเหง้าที่มา สถานการณ์ปัจจุบัน และที่พอคาดการณ์ได้ว่าจะนำไปสู่อะไรในอนาคต
เราต้องศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ศึกษาทั้งกรณีศึกษาของโลก/ประเทศอื่นและของไทย รู้จักการนำทฤษฎีความรู้ ประสบการณ์คนอื่นมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยได้อย่างให้ใกล้เคียงความจริงทางสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การพัฒนาประเทศต้องยึดหลักผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ในระยะยาว มากกว่าการพัฒนาแบบเน้นความเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม โดยส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนน้อย ไม่ได้กระจายสู่คนส่วนใหญ่
การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพของคน เรื่องประสิทธิภาพต้องคิดในแง่ประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่ประสิทธิภาพของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ คือต้องคำนึงถึงต้นทุนและผลตอบแทนทางสังคมและระบบนิเวศ/สภาพแวดล้อมด้วย
การพัฒนาต้องกระจายทรัพยสิน รายได้ โภคทรัพย์ต่างๆ สู่ประชาชนทั้งประเทศอย่างเป็นธรรม เน้นคุณภาพชีวิตมากกว่าปริมาณผลผลิต และเน้นพัฒนาได้อย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลาน (คือลดการทำลายระบบนิเวศ) มากกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจด้านวัตถุและการบริโภค
การปฏิรูปที่สำคัญคือ การกระจายอำนาจ ทรัพยากร ความรู้ ไปสู่ท้องถิ่น/ชุมชนระดับต่างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค บริการทางด้านสังคมต่างๆ ได้ด้วยตนเองเพิ่มขึ้น
ท้องถิ่นควรได้รับส่วนแบ่งจากภาษีส่วนกลางและสามารถเก็บภาษีเอง และบริการจัดการตนเองได้เพิ่มขึ้น เหมือนในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม การกระจายอำนาจ/ทรัพยากรในแนวราบไปทั่วทั้งประเทศเช่นนี้ สร้างประชาธิปไตยและสร้างประสิทธิภาพได้มากกว่าระบบการเมืองการบริหารแบบรวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลกลางมากไปแบบปัจจุบัน
ตัวอย่างการใช้ความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาท้องถิ่น รักษา/เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ซื้อพื้นที่ส่วนเดิมมาทำสวนสาธารณะ ทำทางเดินเท้า/ทางจักรยานริมแม่น้ำ ส่งเสริมการศึกษา/การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์/ศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี การเผาไหม้ ฝุ่นควันต่างๆ
ปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่/ห้องสมุด สื่อการเรียนรู้ ที่เน้นให้ผู้เรียนได้สนุก อยากรู้อยากเห็น รักการอ่านการฟังการดู การเรียนรู้ภาคปฏิบัติต่างๆ พัฒนาสาธารณสุขเชิงป้องกัน/สาธารณสุขทางเลือก ควบคุมเรื่องอาหาร น้ำและยาให้ปลอดภัย
การกระจายทรัพยากร งบประมาณและอำนาจในการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่นระดับต่างๆ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านโรงเรียน สถานพยาบาลฯลฯ จะทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
บริหารจัดการ ตรวจสอบตัวแทนฝ่ายบริหารเรื่องความเหมาะสมและความโปร่งใสได้ดีกว่าระบบบริหารแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง และจะช่วยพัฒนาคุณภาพ/ประสิทธิภาพของประชาชนพลเมืองได้มากขึ้นด้วย
ประสบการณ์ของประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งเรื่องการศึกษามากกว่าไทย ล้วนมาจากเรื่องการกระจายอำนาจ ความรับผิดชอบ ทรัพยากรและงบประมาณไปสู่จังหวัดและท้องถิ่นระดับต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ ที่ไทยยังล้าหลัง
ปัญหาคือชนชั้นนำไทยเป็นพวกหัวเก่าที่หวงอำนาจ/ผลประโยชน์ระยะสั้น และพยายามหลอกลวงประชาชนว่าพวกเขาจะพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมได้ดีกว่าการให้ท้องถิ่นและประชาชนรู้จักบริหารจัดการตนเอง
แต่ความจริงแล้ว การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่ท้องถิ่นและประชาชน จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้ดีกว่า และจะสร้างผลประโยชน์ระยะยาวให้กับทุกคน รวมทั้งพวกชนชั้นนำและลูกหลานของพวกเขาด้วย.