ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 11 วัน มูลหนี้ 4.57 พันล้าน ยกยายอุตรดิตถ์เป็น Case study
ปลัด มท. เผยยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบครบ 11 วัน มูลหนี้ 4.57 พันล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้วกว่า 8.6 หมื่นราย พร้อมยกกรณีคุณยายเป็นหนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์เป็น Case study
วันนี้ (11 ธ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 11 โดยจากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. มีมูลหนี้รวม 4,570.557 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 86,067 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 78,458 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 7,609 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 55,853 ราย
โดยมีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก
- กรุงเทพมหานคร ยังมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 5,533 ราย เจ้าหนี้ 4,309 ราย มูลหนี้ 384.313 ล้านบาท
- จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 3,635 ราย เจ้าหนี้ 2,682 ราย มูลหนี้ 195.343 ล้านบาท
- จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,482 ราย เจ้าหนี้ 2,296 ราย มูลหนี้ 202.917 ล้านบาท
- จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,383 ราย เจ้าหนี้ 1,961 ราย มูลหนี้ 226.356 ล้านบาท
- จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,149 ราย เจ้าหนี้ 1,486 ราย มูลหนี้ 131.785 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 115 ราย เจ้าหนี้ 73 ราย มูลหนี้ 4.657 ล้านบาท
- จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 173 ราย เจ้าหนี้ 118 ราย มูลหนี้ 13.03 ล้านบาท
- จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 245 ราย เจ้าหนี้ 167 ราย มูลหนี้ 7.408 ล้านบาท
- จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 276 ราย เจ้าหนี้ 133 ราย มูลหนี้ 7.401 ล้านบาท
- จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 315 ราย เจ้าหนี้ 188 ราย มูลหนี้ 11.813 ล้านบาท
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ปรากฏข่าวคุณยายยุพิน (นามสมมติ) ได้เดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า สามีตัดสินใจผูกคอเสียชีวิต เพื่อนำเงินฌาปนกิจมาใช้หนี้เงินกู้นอกระบบ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ในวันนี้ นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุทธิพงศ์ เป๊กทอง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ นายประเดิม เดชายนต์บัญชา นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของคุณยายร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และรายงานมายังกระทรวงมหาดไทยทราบ
โดยจากการลงพื้นที่ได้พบน้องสาวของคุณยาย และมีเด็กที่เป็นลูกของลูกสาวคุณยาย 2 คน คนโต กำลังเรียนชั้น ม.5 คนเล็กกำลังเรียนชั้นอนุบาล 3 ซึ่งในเบื้องต้นทาง พมจ. จะให้การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุภาวะฉุกเฉิน และเงินกองทุนคุ้มครองเด็กแก่ทั้ง 2 คน นอกจากนี้น้องสาวของคุณยายยังแจ้งกับคณะฯ ว่า ตนเองก็เป็นหนี้นอกระบบเหมือนกันแต่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ส่วนคุณยายกับเพื่อนได้ไปลงทะเบียนแล้ว ก็พากันไปร้องสื่อมวลชนต่อ เพื่อหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้ โดยในขณะพูดคุยก็มีคนทวงหนี้นอกระบบรายหนึ่งโทรมาหาน้องสาวคุณยาย ทราบว่าคุณยายเคยเป็นหนี้รายนี้ด้วยแต่ใช้หนี้ไปแล้วหลังจากคุณตา (สามีของคุณยาย) เสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยได้รับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอกับการใช้หนี้และน้องสาวคุณยายยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คุณยายมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ
“ทั้งนี้ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์การเสียชีวิตของสามีคุณยาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ วันเกิดเหตุ พบว่ายังไม่มีญาติแจ้งมูลเหตุเรื่องหนี้นอกระบบ กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 คุณยายได้มาแจ้งลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับคุณยายว่า ทางอำเภอจะเชิญเจ้าหนี้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้โดยเร็วที่สุด จากนั้นคุณยายยังได้มีการสอบถามถึงเรื่องเงินดิจิทัลว่าจะได้รับช่วงเวลาใดเพื่อตนจะนำไปใช้หนี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่าจากการติดตามข่าวสารอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย จึงอาจทำให้คุณยายเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เรื่องระยะเวลาการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกับเรื่องเงินดิจิทัลเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้ ในกรณีคุณยายยุพิน (นามสมมติ) ทางจังหวัดและอำเภอได้พบตัวเจ้าหนี้แล้ว 1 ราย และคนทวงหนี้ 1 ราย ซึ่งได้ทำการสอบสวนแล้ว โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังกะพี้จะได้ขยายผลติดตามเจ้าหนี้และคนทวงหนี้รายที่เหลือมาสอบสวนต่อไป พร้อมกันนี้ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับเจ้าหนี้และคนทวงหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยทวงหนี้และกฎหมายว่าด้วยเงินกู้ โดยในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค. 66) หลังจากคุณยายเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองอุตรดิตถ์จะได้เชิญมาพูดคุยถึงแนวทางการไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้ในช่วงบ่ายต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำในการประชุมมอบนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแล้วว่า ทุกพื้นที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มากำหนดมาตรการและเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ได้ทันที ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในครั้งนี้ รวมทั้งจากการรายงานการปฏิบัติของจังหวัด/อำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชน พบว่าในหลายพื้นที่สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี และในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อทบทวนกระบวนการ/ขั้นตอนการทำงานและกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย
“กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอร์คอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย