อุตฯสระแก้ว ปัดโรงงานน้ำตาลสร้างใกล้โบราณสถาน โยน EIA อำนาจ สผ.
อุตสาหกรรม จ.สระแก้ว แจง "ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย" อยู่ห่างโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ตาม กม.กำหนด โยนกรณีศึกษา EIA เป็นอำนาจ สผ. ด้าน "ศุภกฤต" โต้ข้อมูล EIA ไม่มีการศึกษาผลกระทบ ชี้จังหวัด-หน่วยงาน นิ่งเฉย ทั้งที่มีการทำผิด ส่วนภาค ปชช. เตรียมเดินทางบุกศาลากลาง จี้ถาม
วันนี้ (14 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ตัวแทนภาคประชาชนชาวจังหวัดสระแก้ว ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่านทางโชเชียล ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ผู้บริหารบริษัท นิวกว้างสุ้นหลี จำกัด หรือ KSL และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้ยุติการก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
เนื่องจากการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่ครอบคลุมถึงผลกระทบต่อโบราณสถาน ปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย ที่อยู่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างของโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ได้เผยแพร่ออกไปทางโซเชียลได้ระยะหนึ่ง แต่การก่อสร้างในโครงการนี้ยังคงดำเนินการต่อไป โดยไม่สนใจคำทักท้วงของภาคประชาชน
รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัด ต่างเงียบเฉยและไม่มีการชี้แจงใด ๆ ต่อประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด จนปัจจุบันการก่อสร้างได้รุดหน้าไปมาก จนถึงการก่อสร้างฐานรากของอาคารต่าง ๆ ของโรงงาน จนถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ดำเดินการใด ๆ
ล่าสุด นายพฤกษ์ ศิโรรัตนเศรษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าว ได้ผ่านการประเมินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จาก สผ. แล้ว และทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายโรงงานทุกประการ
และตนในฐานะอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดจนครบถ้วน และเห็นว่า ถูกต้องแล้ว จึงนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างในเวลาต่อมา
สำหรับข้อกังวลที่ประชาชนในพื้นที่เกรงว่าโครงการดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อโบราณสถานใกล้เคียงและการทำ EIA ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีรายงานผลกระทบต่อโบราณสถานนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของทาง สผ. ที่รับผิดชอบ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่เพียงให้การอนุมัติ ถ้าการขอตั้งโรงงานได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายโรงงาน
ขณะเดียวกัน นายพกฤษ์ ยังได้กล่าวถึงข้อกังวลของชาวบ้านว่า โรงงานอาจจะสร้างผลกระทบต่อโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงนั้น ข้อเท็จจริงแล้ว โบราณสถานอยู่ห่างจากโรงงานตามที่กฎหมายกำหนด คือแนวเขตของพื้นที่ตั้งโบราณสถานกับแนวเขตของโรงงานห่างกัน 140-150 เมตร แต่ถ้าวัดระยะห่างจากตัวปราสาทไปยังรั้วของโรงงาน
ซึ่งลักษณะพื้นที่จากตัวปราสาทไปยังรั้วของโรงงาน จะเป็นที่ราบสลับกับทุ่งนา จะอยู่ห่างกันมาก และถ้าวัดระยะทางจากตัวปราสาท ไปยังจุดศูนย์กลางของโรงานที่มีความสั่นสะเทือนและฝุ่นละออง จะห่างกันนับเป็นกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมจังหวัดคนดังกล่าว ยังกล่าวอีกว่า เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจนและถูกต้อง ทางจังหวัดได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัด จะออกรังวัดระยะห่างทั้งหมดตามที่กล่าวข้างต้น
โดยมีตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนของโรงงาน ตัวแทนจากกรมศิลปากร ผอ.สำนักศิลปากรที่ 5 ตัวแทนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมออกรังวัด และลงนามรับรองการออกรังวัด ซึ่งจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า
ผลการรังวัดที่ออกมาจะชี้ชัดแน่นอน เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ เพราะเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งจะบ่งบอกถึงระยะห่างระหว่างโบราณสถานและตัวโรงงานอย่างถูกต้อง
นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ได้พยายามติดต่อพุดคุยกับพนักงานและส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ของบริษัท นิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ที่กำลังก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ถึงกรณีข้อร้องเรียนและข้อกังวลของภาคประชาชน และเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงงานไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้
แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงและไม่ให้รายละเอียดใด ๆ โดยกรณีดังกล่าว มีรายงานด้วยว่า กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง จะเดินทางเข้าไปสอบถามกรณีดังกล่าวที่ศาลากลางจังหวัดเร็ว ๆ นี้
ทางด้าน นายศุภกฤต พรรคนาวิน อดีตอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อให้ข้อมูลกรณีดังกล่าวระบุว่า กรณีมีโรงงานน้ำตาลทรายและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน กระทรวงอุตสาหกรรมจะออกใบอนุญาตตั้งโรงงานได้หรือไม่ ซึ่งมีประชาชนชาวสระแก้ว เกิดข้อสงสัยมากมายหลายประการ
ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันระหว่างราษฎรในพื้นที่ผักขะ วัฒนานคร จำนวนมาก กับโครงการที่มาตั้งโรงงานขนาดใหญ่ถึง 2 โรงงานในพื้นที่
ซึ่งอยู่ใกล้โบราณสถานเพียง 430 เมตร ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวสระแก้วจะได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรมหลายโรงงาน เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม โรงงานยางพารา โรงงานผลิตแป้งมัน และโรงงานผลิตเอทานอล เป็นต้น
สำหรับกรณีโรงงานทั้ง 2 โรง ทั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว ที่มีการยื่นคำขออนุญาตตั้งโรงงานไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม มีกลุ่มราษฎรทำหนังสือสอบถามในข้อสงสัยประเด็นต่าง ๆ หลายประเด็น หากดูจากหนังสือของกระทรวงที่ตอบมาชาวบ้าน รู้สึกท้อแท้ใจ เพราะดูแล้วหนังสือที่ตอบล้วนเป็นประโยชน์ต่อโรงงานทั้งสิ้น โดยบางประเด็นตอบแบบเห็นแก่ตัวให้พ้นตัวเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบที่อ้างแต่ว่า โครงการทั้งสองได้รับความเห็นชอบจาก สผ.แล้ว ในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และแถมยังอธิบายว่า โรงงานตั้งได้ เพราะกฎหมายของกระทรวงกำหนดระยะห่างไว้ว่า ต้องไม่น้อยกว่า 100 เมตร ใช่ครับกระทรวงตอบเช่นนั้นได้ ไม่ผิด แต่สิ่งที่กระทรวงตอบนั้น ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
เพราะเนื่องจากในการขออนุมัติ อนุญาตในกิจการใด ๆ ก็ตาม ใช่ครับ เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่จะต้องพิจารณากฎหมายของกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบการพิจารณาด้วยเสมอ จะเอาเฉพาะกระทรวงตัวไม่ได้
ยกตัวอย่าง เช่น กฎหมายผังเมือง หากผู้ขอ มาขออนุญาตตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียว ห้ามก่อสร้างโรงงาน ซึ่งผังเมืองไม่อนุญาต กระทรวงก็ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้
"สำหรับโครงการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร เนื่องจากประเด็นปัญหาคือการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา มีการหลีกเลี่ยงประเด็นสำคัญคือ การศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานสำคัญ ที่อยู่ใกล้กันเพียง 430 เมตร ทั้ง ๆ ที่กฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ออกประกาศไว้แล้ว ในราชกิจจานุเบกษาว่า โครงการที่อยู่ห่างจากโบราณสถานระยะห่างไม่เกิน 1000 เมตร จะต้องทำแผนงานโดยละเอียด เสนอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาก่อน
แต่โครงการนี้ไม่เคยทำ และในรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบ ก็ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานตามกฎหมาย ทีมผู้ชำนาญการที่ร่วมกันจัดทำรายงานทั้ง 14 คน ไม่มีผู้ชำนาญการด้านโบราณสถาน ย่อมเห็นได้ชัดว่า ส่อเจตนาหลีกเลี่ยง คำสั่งทางปกครองของหนังสือกรมศิลปากรที่ วธ0415/216 ลงวันที่ 28 ก.พ.65 หนังสือดังกล่าวสั่งการให้ผู้จัดทำรายงานทำการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถานอย่างละเอียด โดยให้มีนักโบราณคดีในพื้นที่และนอกพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จต้องส่งให้กรมศิลปากรพิจารณาก่อน" นายศุภกฤต ระบุและกล่าวอีกว่า
ผู้ดำเนินการศึกษาไม่เคยส่งรายงานให้กรมศิลปากรพิจารณา ไม่มีการเอาผู้ชำนาญการด้านโบราณสถานเข้าพื้นที่แม้แต่คนเดียว สถานภาพปัจจุบันคือ ตอนนี้ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ทราบเรื่องจากการร้องเรียน แล้วแจ้งตอบกลับว่า ได้ส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้พิจารณาทั้งสองโครงการดำเนินการตรวจสอบแล้ว
และเห็นว่าเป็นข้อมูลจริงจะต้องมีคำสั่งยกเลิกความเห็นชอบในรายงาน EIA ทั้ง 2 ฉบับในทันที ปัญหาของกระทรวงอุตสาหกรรม หากมีการออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานทั้ง ๆ ที่เกิดปัญหาใน EIA กระทรวงต้องรับผิดชอบในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันอาจส่งผลต่อความเสียหายต่อสมบัติของชาติคือ โบราณสถานทันที
ซึ่งปัญหาของจังหวัดสระแก้ว ทั้ง ๆ ที่มีราษฎรเกิดข้อกังวลและเป็นห่วงต่อโบราณสถาน แต่จังหวัดกลับไม่สนใจอะไรเลย แม้แต่การสั่งการของ อบต.ผักขะ ที่ดูแลด้านการก่อสร้างทั้ง ๆ ที่รู้ว่ารายงาน EIA ไม่ถูกต้อง แต่กลับนิ่งดูดาย ก็ระวังไว้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากการที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 โครงการ (แต่ไม่สมบูรณ์) และเมื่อเริ่มมีการก่อสร้าง ตามกฎหมายคือ จะต้องมีการตรวจสอบผลกระทบช่วงโครงการก่อสร้างว่า เป็นไปตามเกณฑ์ที่ผู้ทำการศึกษาประเมินไว้หรือไม่
ดังนั้น จะต้องมีบริษัทที่ 3 หรือ ThirdParty เป็นผู้ทำการประเมิน เหตุที่ต้องใช้บริษัทที่สามเป็นผู้ตรวจสอบนั้น เพื่อจะได้มีความชอบธรรมและน่าเชื่อถือนั่นเอง แต่สำหรับโครงการทั้ง 2 ในการเข้ามาตรวจสอบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงการทำการก่อสร้าง กลับเป็นบริษัทที่ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเอง
เหมือนกับเป็นการออกข้อสอบเอง ทำข้อสอบเอง แล้วจะให้เชื่อถือได้อย่างไร แถมเรื่องนี้คงไม่จบเท่านี้ เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายครับ
สำหรับ ปราสาทบ้านน้อย ห้วยพะใย ตั้งอยู่ที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โดยปราสาทบ้านน้อย เป็นอโรคยาศาลสร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นอโรคยาศาลเพียงแห่งเดียวที่สำรวจพบในจังหวัดสระแก้ว
สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ค.ศ. 1181-1218) ภายโบราณสถาน ประกอบด้วย ปราสาทประธานและบรรณาลัยที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีโคปุระหรือซุ้มประตู ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว
ภายในโคปุระ แบ่งเป็นห้องทิศเหนือและห้องทิศใต้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงแก้ว เป็นที่ตั้งของบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบบารายกรุด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลาดลงไปที่ก้นสระ
นอกจากนี้ ยังพบบารายที่มีคันดินล้อมรอบบริเวณด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของอโรคยาศาล โดยบารายด้านทิศเหนือกว้างประมาณ 45 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร บารายด้านทิศตะวันออกกว้างประมาณ 110 เมตร ยาวประมาณ 225 เมตร
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทบ้านน้อย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนพิเศษ 38 ง วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เนื้อที่โบราณสถาน 45 ไร่ 95 ตารางวา ในปีพุทธศักราช 2563
กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้ดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณปราสาทบ้านน้อย โดยได้ทำการขุดค้น ขุดตรวจและขุดแต่ง ทั้งภายในและภายนอกกำแพงแก้ว รวมทั้ง บารายด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบราณสถาน
สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบบูรณะเสริมความมั่นคงและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโบราณสถาน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ ที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วในอนาคต