พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ บังคับใช้ 1 ม.ค. 67
พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2567
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2518 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปีบำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566"
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 14 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2539
"ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการจ่ายเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนของข้าราชการหรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ เดือนละสองครั้ง ให้กระทรวงการคลังกำหนดวันจ่ายให้สอดคล้องกับการจ่ายเงินประจำตำแหน่งดังกล่าว
ให้ข้าราชการหรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการมีสิทธิเลือกรับเงินประจำตำแหน่งตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงการ จ่ายเงินเดือนข้าราชการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนของข้าราชการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการให้สอดคล้องกับการดำเนินการในกรณีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้