โจทย์ยากขึ้น 'เงินเดือนข้าราชการ' ทั้งระบบ จำนวนขรก.มาก - หนี้สาธารณะสูง

โจทย์ยากขึ้น 'เงินเดือนข้าราชการ' ทั้งระบบ จำนวนขรก.มาก - หนี้สาธารณะสูง

โจทย์ยากขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ “ปานปรีย์” มั่นใจศึกษาเสร็จ พ.ย.นี้ ขึ้นให้ข้าราชการบรรจุใหม่ 25,000 บาท จูงใจทำงานราชการ หวังได้บุคลากรมีคุณภาพขึ้น สวค.ห่วงภาระการคลังพุ่ง รัฐบาลมีข้อจำกัดขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ 

การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการอยู่ในความสนใจของสังคมเป็นอย่างมากเนื่องจากข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐไม่ปรับฐานเงินเดือนมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ 8% ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 25,000 บาท  

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ศึกษาความเป็นไปได้การขึ้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างรัฐ เพื่อรายงาน ครม.รับทราบภายในเดือน พ.ย.2566 

การศึกษาดังกล่าวกำหนดให้ทำงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ. , สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ

จ่อหารือเงินเดือน ขรก.อีกรอบ

ล่าสุดนาย ปานปรีย์ ได้เรียก 4 หน่วยงานมาประชุมพร้อมกันที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 โดยนายปานปรีย์ระบุว่าจะหารืออีก 1 ครั้ง ก่อนรายงาน ครม. ซึ่งนายปานปรีย์ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้มีทิศทางที่ดี แต่รายละเอียดต้องทำเพิ่มเติมและจะได้ก่อนสิ้นเดือน พ.ย.นี้  

รวมทั้งก่อนหน้านี้มีการระบุว่าการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการสอดคล้องนโยบายพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าจะขึ้นเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะขึ้นแบบน้อยมากนั้น คงจะต้องดูทั้งหมด เพราะมีในส่วนข้าราชการแรกเข้าที่รัฐบาลจะต้องปรับฐานเงินเดือน เพื่อที่จะให้คนที่เข้ามาใหม่มีความสนใจที่จะเข้ามาสู่ระบบราชการมากขึ้น เพราะถ้าฐานเงินเดือนต่ำเราอาจได้คนที่ไม่มีคุณภาพ และในที่สุดคนที่จะเข้ามารับราชการอาจจะตัดสินใจเลี้ยวไปทำงานภาคเอกชน

ดังนั้นจึงมาดูด้วยว่าเงินเดือนเอกชนที่จบปริญญาตรีเริ่มต้นจากตรงไหน และดูความเหมาะสมในส่วนของราชการว่าควรจะเป็นเท่าไหร่

โจทย์ยากขึ้น \'เงินเดือนข้าราชการ\' ทั้งระบบ จำนวนขรก.มาก - หนี้สาธารณะสูง

“การหารือยังไปไม่ถึงว่าจะขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้กำลังดูในส่วนของข้าราชการแรกเข้าก่อน ส่วนจะขึ้นทั้งระบบหรือไม่ ขอให้รอฟังก่อน อย่าเพิ่งสรุปว่าจะเป็นเท่าไหร่ เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งจะขึ้นมากหรือขึ้นน้อยก็ค่อยว่ากัน”

คาดต้องใช้งบเพิ่มแสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การหารือของ 4 หน่วยงาน ดังกล่าวมีข้อเสนอการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ ครอบคลุมข้าราชการประจำ ลูกจ้างของรัฐ ข้าราชการทหาร ตำรวจ รวมทั้งข้าราชการเกษียณที่รับเงินบำเหน็จ บำนาญ จะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท

รวมทั้งเมื่อเงินเดือนข้าราชการพลเรือนขยับขึ้นทำให้มีข้อเสนอขอขึ้นข้าราชการส่วนอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ ศาลยุติธรรมและองค์กรอิสระ ซึ่งหลายหน่วยงานมีเงินเดือนสูงอยู่แล้วแต่เมื่อข้าราชการขึ้นก็จะเป็นผลให้มีการขอปรับขึ้นเงินเดือนตาม

ดังนั้น มีข้อเสนอให้ระยะแรกทยอยขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยเน้นข้าราชการที่มีรายได้น้อยเพราะใช้งบประมาณไม่มาก ส่วนข้าราชการระดับสูงที่เงินเดือนสูงจะปรับขึ้นน้อยกว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ตามแนวนโยบายนี้จะทำได้เมื่อ ก.พ.ลดขนาดข้าราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงาน เพราะปัจจุบันบางหน่วยงานใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์เข้ามาช่วยมาก แต่ยังมีจำนวนข้าราชการมากและมีความซ้ำซ้อนกัน ซึ่ง ก.พ.ต้องดูความเหมาะสมการลดจำนวนข้าราชการ

สำหรับจำนวนข้าราชการล่าสุดหลังคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐเสนอ ครม.เดือน  พิจารณา เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐปี 2566-2570 มีกำลังคนภาครัฐรวม 3 ล้านคน แบ่งเป็น

  1. ข้าราชการ 1.75 ล้านคน 
  2. บุคลากรประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) 1.24 ล้านคน

ส่วนโครงสร้างวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 กำหนดกรอบวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายประจำที่รวมเงินเดือนข้าราชการและเงินเดือนลูกจ้าง รวม 2.61 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.28% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 2.17 แสนล้านบาท

ห่วงผลกระทบภาระการคลังพุ่ง

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า ปัจจุบันการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแต่ละปีอยู่ที่ 2% ถือว่าไม่สูง ซึ่งปรับขึ้นตามการประเมินประจำปีไม่ใช่การปรับฐานเงินเดือน โดยสาเหตุหลักที่ขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ได้ เช่น เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ รวมทั้งจำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้นมาก และหนี้สาธารณะอยู่ระดับสูง

ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐบาลมีรายจ่ายประเภทเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าจ้างลูกจ้างตามสัญญา และค่าตอบแทนพนักงานราชการ ปีละ 600,000 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายข้าราชการบำนาญปีละ 300,000 ล้านบาท ซึ่งข้าราชการบำนาญเพิ่มขึ้นปีละ 10% และอีกไม่กี่ปีจะใช้งบข้าราชการบำนาญสูงเท่ากับเงินเดือนข้าราชการประจำหรืออาจแซงหน้าได้

รวมทั้งเมื่อรวมรายเงินเดือนข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญอยู่ที่ 900,000 ล้านบาทเศษ ขณะที่มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ปีละ 3.3-3.4 ล้านล้านบาท ทำให้เงินเดือนและค่าจ้างบุคลากรภาครัฐคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด 

นอกจากนี้ เคยมีการศึกษาอัตราการเพิ่มของจำนวนข้าราชการและรายจ่ายรัฐที่เพิ่มขึ้น โดยยังไม่ใส่สมการการขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะทำให้งบประมาณของไทยต้องขยายจากระดับ 3.3-3.4 ล้านล้าน ในปัจจุบัน เป็น 4.5 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี หรือเท่ากับต้องตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเพื่อรองรับรายจ่ายที่สูงขึ้นอีก 1.2-1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้ายังไม่เพิ่มรายได้ภาครัฐและทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลเพิ่ม

รัฐบาลมีข้อจำกัดขึ้นเงินเดือนข้าราชการ

ส่วนประเด็นที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเงินข้าราชการทั้งระบบได้ เป็นเพราะขณะนั้นผ่านการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ทำให้ลดขนาดข้าราชการลงมาก และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่ระดับ 40% เศษ ถือว่าต่ำมาก ซึ่งต่างจากปัจจุบันช่วง 8 -9 ปีที่ผ่านมา ขยายหน่วยงานราชการหรือตั้งหน่วยงานใหม่ทำให้มีข้าราชการและลูกจ้างเพิ่มขึ้น จึงทำให้การขึ้นเงินเดือนยากกว่าในอดีต 

ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเกิน 60% ของจีดีพี จึงทำให้การขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีข้อจำกัดมากพอสมควร

นายสุวิทย์ กล่าวว่า การเพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานต้องทำควบคู่การเพิ่มขนาดเศรษฐกิจไทย เพื่อรองรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะหากเศรษฐกิจโตได้ปีละ 5-6% ต่อเนื่อง รายได้ภาครัฐก็จะเพิ่ม ทำให้การคลังในอนาคตก็จะไม่มีปัญหาแม้จะมีการขยับฐานเงินเดือนข้าราชการขึ้นประมาณ 10% ก็สามารถทำได้

ขณะที่เรื่องสำคัญ คือ การลดขนาดระบบราชการและการเพิ่มประสิทธิภาพต้องทำจริงจัง รวมถึงการขยายเวลาเกษียณอายุราชการเพื่อไม่ให้วงเงินข้าราชการบำนาญแซงวงเงินสำหรับเงินเดือนข้าราชการประจำ และที่สำคัญคือต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้