ปภ. เตือน เหนือ อีสาน กลาง รวม กทม. เฝ้าระวังอุณหภูมิลดฮวบ 3-6 องศาฯ

ปภ. เตือน เหนือ อีสาน กลาง รวม กทม. เฝ้าระวังอุณหภูมิลดฮวบ 3-6 องศาฯ

ปภ. แจ้งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และ กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลง และมีลมแรง ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 20 - 25 ธ.ค. 66

วันนี้ (18 ธ.ค. 66) เวลา 17.30 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (307/2566) ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยแลถทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 5 - 8 องศาเซลเซียส ภาคเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 4 - 6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส และภาคใต้ตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 2 - 4 องศาเซลเซียส

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 - 25 ธันวาคม 2566 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านอ่าวไทยตอนล่างและสาธารณรัฐมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณฝั่งอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยจะมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร 
 

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 20 - 25 ธันวาคม 2566 แยกเป็น

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลงและมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง 

ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ ไชยา พุนพิน กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก เกาะสมุย เกาะพะงัน บ้านนาเดิม) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม พระพรหม เฉลิมพระเกียรติ พิปูน ฉวาง ร่อนพิบูลย์ บางขัน นาบอน ช้างกลาง ชะอวด ปากพนัง สิชล นบพิตำ ท่าศาลา หัวไทร ทุ่งสง จุฬาภรณ์) พัทลุง (ทุกอำเภอ) สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร จะนะ สะเดา เทพา นาทวี บางกล่ำ ควนเนียง หาดใหญ่) ปัตตานี (อ.เมืองฯ หนองจิก ปะนาเระ) ยะลา (อ.เมืองฯ รามัน ยะหา) นราธิวาส (อ.เมืองฯ ยี่งอ สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี แว้ง ระแงะ) และสตูล (อ.ละงู มะนัง ท่าแพ) 

  • พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง 

ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ)

ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร (อ.เมืองฯ ปะทิว สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม) สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ ดอนสัก กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง เกาะสมุย เกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร) สงขลา (อ.เมืองฯ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา) ปัตตานี (อ.เมืองฯ หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี ไม้แก่น) และนราธิวาส (อ.เมืองฯ ตากใบ)
 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลงและมีลมแรง ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพจากอุณหภูมิที่ลดลง และระวังอันตรายจากอัคคีภัยในการก่อไฟให้ความอบอุ่น 

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้พิจารณาประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หากมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด 

ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

ปภ. เตือน เหนือ อีสาน กลาง รวม กทม. เฝ้าระวังอุณหภูมิลดฮวบ 3-6 องศาฯ