พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ มาตรา 60 อาวุธสำคัญที่สร้างความเป็นธรรม
พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจ กขค. ไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งพฤติกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า อันก่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามหลักนิติรัฐ และนิติธรรม
มาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ) กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า
ผู้ประกอบธุรกิจใดมีพฤติกรรมทางการค้าที่ฝ่าฝืน หรืออาจจะฝ่าฝืนมาตรา 50 (ใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม) มาตรา 51 (การควบรวมธุรกิจในกรณีที่ต้องขออนุญาต) มาตรา 54 และ 55 (การตกลงร่วมกัน)
มาตรา 57 (การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม) หรือมาตรา 58 (การตกลงร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภคในประเทศ)
ให้ กขค. มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้น ๆ ระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่อาจฝ่าฝืนได้ และการออกคำสั่งดังกล่าว กขค. อาจกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เท่าที่จำเป็นได้อีกด้วย
วัตถุประสงค์ที่ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจ กขค. ไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งพฤติกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า อันก่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามหลักนิติรัฐ และนิติธรรม
ที่ผ่านมา กขค. เคยมีการใช้อำนาจในการออกคำสั่งตามมาตรา 60 ไปแล้ว เช่น
กรณีที่หนึ่ง เป็นการออกคำสั่งให้ผู้รวบรวมผลไม้ (ล้ง) ในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 1 ราย หยุดพฤติกรรมที่อาจขัดต่อ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ เนื่องจากเห็นว่า มีพฤติกรรมความผิดตามมาตรา 57 (2) ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดผลเสียหายต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น
กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กขค. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยละเอียด และพบพฤติกรรมของล้ง มีการเอาเปรียบชาวสวนผลไม้จริง โดยใช้อำนาจตลาดที่เหนือกว่ากระทำความผิด เช่น ทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซื้อผลไม้ในราคาที่ไม่เป็นธรรม กดราคารับซื้อ เป็นต้น
ทางสำนักงาน กขค. จึงได้เสนอ กขค. ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าจัดการ ด้วยการสั่งให้หยุดพฤติกรรมที่กระทำอยู่ และให้ผู้ที่กระทำพฤติกรรมชี้แจงการกระทำดังกล่าวด้วย และหากผู้กระทำไม่ยอมหยุดพฤติกรรมที่เป็นความผิด อาจถูกโทษปรับได้สูงสุด 6 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 3 แสนบาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
แต่หากผู้กระทำพฤติกรรมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของ กขค. ผู้ประกอบธุรกิจที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 60 วัน
แต่ขณะเดียวกัน การดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมที่อาจกระทำผิดตามมาตรา 57 (2) ยังคงดำรงอยู่ ซึ่งที่สุดแล้ว หากพบว่ากระทำผิดจริง ย่อมมีโทษปรับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
กรณีที่สอง ที่ กขค. ได้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 60 โดยในกรณีนี้มีการร้องเรียนว่า มีผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง กระทำการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัด หรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม
มีลักษณะเป็นการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรระหว่างลูกค้าต่างราย และเป็นการปฏิเสธที่จะทำการค้ากับผู้ค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ซึ่ง กขค. พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 ตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ จึงออกคำสั่งให้ระงับ หยุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่คู่ค้า เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อคู่ค้า
อีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง สำนักงาน กขค. ได้รับข้อมูลว่า อาจมีการตกลงร่วมกันกำหนดราคาจำหน่ายน้ำแข็ง ในพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนที่สำนักงานจะเสนอให้ กขค. พิจารณาใช้อำนาจในการออกคำสั่งตามาตรา 60 เหมือนสองกรณีข้างต้น
สำนักงาน กขค. เลือกที่จะปรับกระบวนการทำงานด้วยการลงพื้นที่และจัดประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจ รวมทั้งเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ห้ามกระทำตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงน้ำแข็งในพื้นที่ได้รับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมาย และความเสียหายหากมีการกระทำพฤติกรรมต่าง ๆ อยู่
ถือได้ว่ากระบวนการรูปแบบใหม่ในการทำงานของสำนักงาน กขค. นี้ เป็นการใช้มาตรการทางกฎหมายในเชิงป้องปราม เพื่อยับยั้งการกระทำความผิดไม่ให้เกิดขึ้น มากกว่าการใช้กฎหมายในเชิงปราบปราม
ดังที่กล่าวข้างต้น มาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ นอกจากให้อำนาจ กขค. แล้ว ยังกำหนดสิทธิในการอุทธรณ์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับคำสั่งจาก กขค. ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับคำสั่งจาก กขค. แล้วหากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง
ซึ่งเป็นแนวทางเช่นเดียวกับการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศเกาหลีใต้ และประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเห็นได้ว่าการให้อำนาจ กขค. ตามมาตรา 60 นี้ จะทำให้ กขค. และสำนักงาน กขค. มีการบังคับใช้กฎหมายที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการนำไปสู่การเป็นคดีความ
เพราะผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ย่อมเข้าใจดีว่า การใช้เวลาไปกับการดำเนินคดีนั้น เป็นการบริโภคเวลาโดยใช่เหตุต่อการดำเนินธุรกิจ.