จับข้าราชการ ซี 7 ปลอมเอกสารใบเสร็จ 1,000 คน โกงเงินล้าน
ตำรวจบุกจับข้าราชการ ซี 7 ปลอมเอกสารใบเสร็จ 1,000 คน โกงเงินล้าน ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริต
กรณี จับข้าราชการ ซี 7 ปลอมเอกสารใบเสร็จ 1,000 คน โกงเงินล้าน ล่าสุด พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผกก.4 บก.ปปป.) พร้อมทีมงานลงพื้นที่สืบสวน หลังได้รับการประสาน จากสำนักงาน ป.ป.ท. ให้ติดตามจับกุมผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตภาค 6
จากกรณีเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2556 มีข้าราชการเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางนครสวรรค์ ระดับชำนาญการ ซี 7 โกงเงินผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งเงินฝาก และเงินสวัสดิการร้านค้า ไปจำนวนกว่า 3 ล้านบาท เชิดเงินไปหลายหน ตรวจสอบพบกว่า 145 ครั้ง รับเอาเงินไปใช้จนหมดตัว
กระทั่งเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าผู้ต้องหา คือ น.ส.เอ (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการ ซี 7 เรือนจำนครสวรรค์ หนีมาหมายจับนานกว่า 10 ปี มาทำงานอยู่ที่บริษัทลิสซิ่ง (รับจำนำรถ) แห่งหนึ่งใจกลางเมืองกำแพงเพชร
จึงนำทีมชุดจับกุมแสดงหมายจับ และควบคุมตัวโดยผู้ต้องหาร ให้การรับสารภาพว่าเป็นบุคคลตามหมายจริง และไม่เคยถูกจับในคดีนี้ ก่อนนำตัวส่งดำเนินการตามกฎหมาย ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 6 จังหวัดพิษณุโลกต่อไป
เรือนจำกลางนครสวรรค์ เป็นเรือนจำที่มีขนาดใหญ่ มีผู้ต้องขังกว่า 3,000 ราย โดยส่วนมากเป็นคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และโดยปกติผู้ต้องขังจะสามารถใช้เงินภายในเรือนจำได้วันละไม่เกิน 500 บาทเท่านั้น ซึ่งการรับฝากเงิน และเก็บเงินสวัสดิการของผู้ต้องขัง ญาติของผู้ต้องขังอาจนำเงินฝากไว้ไม่เกิน 15,000 บาท
น.ส.เอ (นามสมมุติ) ผู้ต้องหา ปลอมเอกสารใบเสร็จให้ทุกครั้ง ใบจริงให้กับญาติผู้ต้องขังเขียนตรงตามที่ฝาก แต่สำเนาทำปลอมขึ้นให้น้อยกว่าจำนวนจริงเพื่อจะได้นำเงินยักยอกเข้ากระเป๋าตนเอง ยากแก่การตรวจสอบจากบุคคลภายนอก เพราะญาติของผู้ต้องขังมีโอกาสที่จะได้พบผู้ต้องขัง เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าเกี่ยงกับความเป็นอยู่และการใช้เงินภายในเรือนจำว่าเป็นอย่างไร จึงเปิดช่องให้ผู้ต้องหานี้ ใช้อำนาจหน้าที่ของตนยักยอกเอาทรัพย์สินส่วนนี้ไปเล่นการพนันบอลออนไลน์
น.ส.เอ (นามสมมุติ) ให้ปากคำอีกว่า เนื่องจากรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินมานานกว่า 20 ปี จนเกิดความชำนาญและเห็นช่องว่างในการทุจริต ตกแต่งบัญชีซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นอยู่ภายในเรือนจำของผู้ต้องขัง ซึ่งในส่วนนี้เป็นความเสียหายเพียงแค่ส่วนที่ตรวจสอบพบเท่านั้น และอาจมีอีกหลายครั้งที่ตบตาจนแนบเนียนยากแก่ตรวจสอบ
พ.ต.อ.ศานุวงษ์ กล่าวว่า ผู้ต้องหารู้ว่ามีการติดตามตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงได้หลบหนีมาตลอด และบอกกับทางบ้านของตนเองว่า หากมีเอกสารหมายเรียก ไม่ต้องติดต่อมาหาตนเด็ดขาด เพื่อตัดช่องทางไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดตามได้
ทั้งนี้ ตำรวจ บก.ปปป. ซึ่งเชื่อว่ายังมีกรณีดังกล่าวในหน่วยงานราชการอีกหลายแห่งที่อาจมีการดำเนินการในลักษณะนี้ แต่ยังตรวจสอบไม่พบ โดยทาง บก.ปปป. จะได้ดำเนินการสืบสวนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลจับกุมและยึดทรัพย์สินเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการต่อไป
จึงขอเตือนภัยแก่บริษัทเอกชนทั่วไป ให้ตรวจสอบประวัติผู้ที่จะเข้าสมัครทำงานให้ดี เพราะบุคคลที่มีหมายจับเกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐอีกหลายรายยังคงลอยนวล และออกมาทำงานการเงินให้กับเอกชนทั่วไปได้อยู่ หากไม่ตรวจสอบประวัติให้ดี อาจก่อความเสียหายต่อบริษัทซ้ำอีก เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำบัญชีเพื่อปกปิดความผิดมาแล้ว
หากพบมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เชิญชวนให้กระทำการในลักษณะนี้ หรือให้ฉ้อโกงเพื่อรับส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมายังกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โทร. 02-1919191 สายด่วน ป.ป.ช. 1205 (สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ), สายด่วน ป.ป.ท. 1206 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ สายด่วน ป.ป.ง. โทร. 02-2193600 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)