สภาการสื่อฯ ออกรายงานจริยธรรมปี 66 ยก 12 เหตุการณ์ท้าทายความน่าเชื่อถือ
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ออกรายงานสถานการณ์จริยธรรมสื่อ 2566 รวม 12 เหตุการณ์ประจำปีแห่งความท้าทายความน่าเชื่อถือ เผชิญปมนักข่าวเรียกรับเงิน-ก็อปข่าวลงเพจสร้างรายได้
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในฐานะองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมสำหรับสื่อมวลชน ซึ่งยกระดับจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 มีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนทุกแขนงให้คงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่พึ่งของสังคม โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการที่ประกอบด้วยภาคส่วนสำคัญต่างๆ ทั้งนักวิชาชีพ นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสื่อมวลชนอย่างเข้มแข็ง ได้ติดตามสถานการณ์ด้านจริยธรรมสื่อมวลชนในประเทศไทย และผลักดันกิจกรรมที่จะช่วยให้สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถปรับตัว เติบโต เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยคงไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพ และเป็นที่พึ่งพิงของสังคมได้อย่างยั่งยืน
โดยการดำเนินงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดปี 2566 มีดังนี้
1. แถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว
ต้องมีปรากฎการณ์ หรือเหตุการณ์สำคัญจริงๆ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงจะออกแถลงการณ์ร่วม ดังกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าวและช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 7 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566
โดยแถลงการณ์สรุปว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ร่วมประชุมกันและขอแสดงจุดยืนต่อสาธารณะว่า สื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นขอให้องค์กรต้นสังกัดที่ถูกระบุว่ามีนักข่าวรับเงิน
รวมทั้งองค์กรสื่อมวลชนอื่นๆ ตรวจสอบว่านักข่าวในสังกัดว่ามีพฤติกรรมตามที่ถูกระบุหรือไม่ พร้อมแจ้งผลต่อสาธารณะ ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีต้นสังกัดและกระทำการเป็นนักข่าวเพื่อส่งข่าวต่อไปยังสำนักข่าวต่างๆ แต่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมวิชาชีพนั้น ขอให้ทุกองค์กรสื่อมวลชน ยุติการซื้อข่าวจากบุคคลหรือกลุ่มดังกล่าว กรณีที่มีนักข่าวมีส่วนพัวพันหรือไปเกี่ยวข้องกับการรับเงินในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นจะตรวจสอบด้านจริยธรรมวิชาชีพเช่นกัน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเรียกร้องให้บุคคลกลุ่มบุคคลที่เป็นอดีตนักข่าว และทำหน้าที่ส่งข่าวให้สำนักข่าวต่างๆ แสดงตัวตนให้ชัดเจนว่าการรับเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนในการทำข่าวและส่งประชาสัมพันธ์ โดยไม่แอบอ้างตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลด้านจริยธรรมจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
2. การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว
ต่อเนื่องจากแถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว โดยมีมติเห็นชอบร่วมกันให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน (เป็นบุคคลากรในวิชาชีพ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน) รวมเป็น 6 คน และสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ได้แก่ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ตามประกาศ 3 สภาวิชาชีพ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566
อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีสื่อมวลชนนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ตามแถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และจัดทำข้อเสนอการดำเนินการตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เสนอไปยังองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต่อสาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสม ตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพของสื่อมวลชน เพื่อสร้างการยอมรับต่อสาธารณะ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศแต่งตั้ง โดยอาจขอขยายเวลาได้ครั้งละ 30 วันแต่ไม่เกิน 2 ครั้ง
3. กรณีการนำข่าวมาลงในเพจ โดยอ้างว่าไม่ได้ลอก แต่ได้ประโยชน์และรายได้ ผิดจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน
คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในการประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมได้หยิบยกกรณีมีเพจดังนำข่าวของสำนักข่าวต่างๆ มาลง โดยไม่ได้ส่งนักข่าวลงพื้นที่ อ้างว่าไม่ได้ลอก แต่มาสรุปเรียบเรียงใหม่แปะลิงก์ข่าวไว้ ซึ่งได้ประโยชน์และรายได้จากการกระทำดังกล่าว ทำให้การทำงานของนักข่าวช่องอื่น ๆ และเว็บไซต์ต่าง ๆ ทำงานยากลำบากขึ้น โดยที่ประชุมอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เห็นว่าเรื่องนี้มีมานานแล้ว มีการนำข่าวไปใช้ประโยชน์ แต่แค่ลงขอบคุณให้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบนักข่าว หยิบฉวยเอาข่าวไปใช้ได้อย่างง่ายๆ ขาดมารยาท นำข่าวหรือข้อมูลไปใช้และได้รับประโยชน์ ขณะที่ต้นทางไม่ได้ประโยชน์นั้นด้วย แม้บางครั้งจะเอาผิดเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ แต่ขาดจริยธรรมในการทำงาน โดยที่ประชุมเห็นตรงกันและแสดงความกังวลในเรื่องนี้ว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2564 หมวด 3 หลักกระบวนการทำงาน ข้อ 28 สื่อมวลชนต้องบอกที่มาของข้อมูลในเนื้อหาข่าวที่คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากการขออนุญาตจากแหล่งข้อมูลนั้นแล้ว ที่ประชุมเห็นด้วยว่าควรขยายผลหาวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ไม่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ให้เป็นที่รับทราบของผู้ประกอบวิชาชีพและสาธารณะต่อไป.
4. การแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน
สถานการณ์ปัจจุบัน การกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนในประเทศไทยยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาวะการณ์ที่ภูมิทัศน์สื่อมวลชนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยการประชุมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 จึงเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนโดยมีประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ คนที่ 1 เป็น ประธานคณะทำงาน นอกจากนี้ยังมีนักวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้แทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
อำนาจและหน้าที่คณะทำงาน ศึกษา รวบรวมข้อมูล และข้อเสนอแนะในการพัฒนากลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ศึกษารูปแบบ วิธีการ หรือแนวทางที่จะทำให้การกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายในเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศแต่งตั้ง
ทั้งนี้ คณะทำงานตั้งเป้าหมายการทำงานจะเริ่มจากทำเรื่อง Self-regulation ให้เข้มแข็งก่อน เน้นที่แนวทางการพัฒนา “จริยธรรมกลาง”ที่มาจากการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งหาข้อมูลประกอบเกี่ยวกับการพัฒนา Code of conduct และกลไกอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวของออสเตรเลียและอินโดนีเซีย รวมถึงศึกษาแนวทางการส่งเสริมสื่อที่ทำดีให้อยู่รอดแข่งขันได้ ปัจจุบัน คณะทำงานได้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอเสร็จแล้ว เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติต่อไป
5. โครงการอบรมเพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง “โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ”
ภารกิจสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นอกจากการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อซึ่งเป็นสมาชิกที่เป็นงานหลัก ก็ยังมีหน้าที่ส่งเสริมให้สมาชิกทำหน้าที่สื่อมวลชนให้มีประสิทธิภาพ เหมือนเป็นมาตรการเชิงป้องกัน โดยปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความผันแปรของภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ รวมถึงวิกฤตพลังงานและอาหาร ภาวะโลกร้อนที่จะมีผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติในอนาคต ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจในเรื่องระเบียบโลกที่กำลังก่อตัว จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสื่อมวลชนไทยที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้ได้การรายงานและวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศแบบบูรณาการ รวมถึงประเด็นการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลกอย่างถูกต้อง รอบด้านและเป็นไปตามหลักจริยธรรมสื่อมวลชน
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงให้กับสื่อมวลชนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความสามารถของสื่อมวลชนไทยในการรายงานและวิเคราะห์ข่าวความเคลื่อนไหวในมุมต่างๆของระเบียบโลกได้อย่างถูกต้อง รอบด้านและเป็นไปตามหลักจริยธรรมสื่อมวลชน โดยมีการบรรยายและอภิปรายในห้องเรียน ศึกษาดูงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดทำรายงานกลุ่มเพื่อร่วมกันออกแบบการสื่อสารเกี่ยวกับระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้น่าสนใจและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้รับสารโดยผู้เข้ารับการอบรม มีผู้สื่อข่าวด้านต่างประเทศและด้านอื่นๆ รวมถึงบุคคลากรจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์การอื่นที่เกี่ยวข้อง อบรมทุกวันอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2567 รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 31 คน
6. โครงการพัฒนาแนวทางการสอนจริยธรรมและกฎหมายสื่อยุคใหม่
เป็นโครงการความร่วมมือองค์กรสื่อขับเคลื่อนพัฒนาวิชาชีพและส่งเสริมจริยธรรมสื่อ เพื่อสร้างระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยใช้วิธีการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (Transformative Learning) ตามแนวทางจิตตปัญญา คือกลับมาเห็นและยอมรับความเป็นทั้งหมดแห่งความเป็นมนุษย์ อันเป็นการจะได้มาซึ่งทิศทางของการเรียนการสอนกฏหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน ให้กับกลุ่มอาจารย์ผู้สอนจริยธรรมและกฎหมายสื่อมวลชน และนักวิชาชีพด้านสื่อ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 30 คน เมื่อวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2566 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม
7. การเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับสื่อมวลชน
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้จัดอบรมโครงการนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการส่งเสริมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สร้างกระแสการตื่นตัว และกระตุ้นเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 1 – 2 กันยายน 2566 ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วม 30 คน
8. แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง
นับตั้งแต่การถือกำเนิดการพิมพ์หนังสือครั้งแรก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ.2205 อันเป็นจุดกำเนิดของงานข่าว ซึ่งถือเป็นหัวใจงานด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มาจนถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน ในแวดวงวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับงานข่าว ยังไม่เคยมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวการเมืองและการเลือกตั้งมาก่อน
ปี 2566 ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งใหญ่ คือวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงมีดำริในการจัดทำแนวปฏิบัติ เรื่อง การนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้งขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม มีความหลากหลาย รอบด้าน เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน
โดยที่มาและความสำคัญของแนวปฏิบัตินี้ เนื่องจาก สื่อมวลชนไม่ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น ทั้งที่ “ข่าว” ควรจะเป็นการนำเสนอ “ข้อเท็จจริง” เท่านั้น การใช้ภาษา ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ทั้งการปลุกระดมความคิด การใช้คำหยาบคาย คำหมิ่นเหม่ ระหว่างนักการเมืองด้วยกัน และการเสนอโดยไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล จนทำให้ในบางครั้งสื่อมวลชนกลายเป็นเครื่องมือของพรรคการเมือง โดยแนวปฏิบัติดังกล่าว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566
นอกจากนี้ ที่ประชุมสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ยังได้แสดงความคิดเห็นกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม โดยสนับสนุนให้สื่อทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงที่โซเชียลมีเดียมีส่วนในการชี้นำสังคมอย่างมาก จนเกิดความรู้สึกกันว่าอาจจะมีการทุจริตในการเลือกตั้ง แม้การเลือกตั้งจะเสร็จ แต่ความรู้สึกของประชาชนอาจจะยังไม่จบลงได้ สื่อมวลชนควรต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมาตามหลักฐานข้อเท็จจริง ตรวจสอบและติดตามการทำงานของกกต. อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง เป็นธรรมและโปร่งใส
9. คำวินิจฉัย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง เว็บไซต์ข่าวบันเทิงดาราเดลี่ ละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
สื่อมวลชน กรณี พาดหัวข่าวล่อแหลม ส่อเสียด ไม่เป็นความจริง และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ข่าว “เบนซ์ ปุณยาพร” โอดเจอโรคจิตคุกคามหนัก เจอคอมเมนต์แรงขาย…เรื่องนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้รับการร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่า เว็บไซต์ข่าวบันเทิง ดาราเดลี่ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 พาดหัวข่าวล่อแหลม ส่อเสียด ไม่เป็นความจริง และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยผู้ร้องระบุว่า ได้อ่านเจอข่าวพาดหัว “เบนซ์ ปุณยาพร” โอดเจอโรคจิตคุกคามหนัก เจอคอมเมนต์แรง ขาย…(https://www.daradaily.com/news/118194/read) เมื่ออ่านแล้วรู้สึกว่าพาดหัวข่าวของข่าวดังกล่าว ค่อนข้างไม่ตรงกับเนื้อหาของข่าวที่ให้ไว้ เน้นเพียงแต่ใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ ดึงความสนใจผู้อ่าน และสามารถสร้างความเข้าใจผิดในเชิงลบ เช่น การใช้คำว่า ขาย… ซึ่งถือเป็นการสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อบุคคลผู้ตกเป็นข่าว อีกทั้งการใช้ภาพประกอบในข่าวยิ่งส่งเสริมให้ประชาชนที่ได้อ่านข่าวนี้เข้าใจผิด ชี้นำให้ผู้อ่านคิดไปในทางใดทางหนึ่งอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งไม่ตรงกับเนื้อหาของข่าว และความเป็นจริงของสถานการณ์ ทั้งยังไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
การประชุมคณะกรรมการจริยธรรม เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ได้พิจารณาส่งเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวให้คณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียนพิจารณาต่อ ต่อมาคณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียนพิจารณาแล้วเห็นว่า การพาดหัวข่าวดังกล่าวหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ข้อ 5 สื่อมวลชนต้องตรวจสอบและไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าวจนคลาดเคลื่อน หรือเกินจากข้อเท็จจริง ข้อ 6 สื่อมวลชนต้องละเว้นการเสนอข่าวด้วยความลำเอียงหรือมีอคติเป็นเหตุให้ข่าวนั้นบิดเบือน อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลในข่าวและความเข้าใจผิดในสังคม ข้อ 7 สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอหัวข้อข่าว พาดหัวข่าว ความนำ และภาพประกอบจนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากสาระสำคัญของข่าว และมีมติให้ส่งหนังสือไปยังดาราเดลี่เพื่อให้ชี้แจงกลับมา
ต่อมาดาราเดลี่ ได้ชี้แจงกลับมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ความว่า “เบนซ์ ปุณยาพร” เป็นอีกหนึ่งคนบันเทิงที่เจอคอมเมนต์คุกคามอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทางดาราเดลี่เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หยิบเรื่องราวเหล่านี้มานำเสนอเสมอๆ รวมถึงเผยแพร่ช่องทางการถูกคุกคามและเอ่ยถึงลักษณะที่เหล่าคนบันเทิงถูกคุกคามเท่าที่นำเสนอได้ทุกครั้ง เพื่อเตือนให้บุคคลที่กระทำผิดได้รู้ตัว ว่าไม่ควรทำแบบนี้กับใคร หรือแม้กระทั่งบุคคลสาธารณะและให้สังคมช่วยกันสอดส่องดูแลพร้อมแจ้งรีพอร์ต แต่เนื่องจากในบทความนี้ ทีมข่าวอาจจะไม่ได้มีการยกตัวอย่าง หรือโปรยที่มาที่ไปของข่าว รวมถึงอธิบายข้อมูลของข่าวให้เพียงพอมากนัก จึงไม่สามารถทำให้ผู้ที่เสพข่าวสารบางท่านที่อาจจะไม่ทราบถึงปูมหลังหรือทราบที่มาที่ไปเข้าใจในการนำเสนอข่าวเพียงพอ อีกทั้งภาพประกอบที่นำเสนอทีมข่าวอาจจะใส่ได้ไม่ครบถ้วน องค์ประกอบเหล่านี้จึงอาจจะทำให้มองได้ว่าพาดหัวไม่ตรงกับเนื้อหา
ทั้งนี้ “เบนซ์ ปุณยาพร” กับทีมข่าวดาราเดลี่ค่อนข้างสนิทสนมกัน หากส่งผลกระทบให้เกิดความเสื่อมเสียจริง “เบนซ์” จะต้องแจ้งทีมข่าวมาแน่นอน และจากการสัมภาษณ์พูดคุยตัว “เบนซ์” เองก็เคยประสบพบเจอบุคคลที่คุกคามมากกว่าที่ข่าวได้นำเสนอออกไป แต่เพื่อความสบายใจของผู้อ่านและว่าไปตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติพิจารณา ทางกองบรรณาธิการจึงได้พูดคุยกับทีมข่าวที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งกล่าวตักเตือนถึงความละเอียดของข้อมูลในการนำเสนอข่าวและแจ้งทำการลบข่าวนี้ออกเรียบร้อยแล้ว
ในการประชุมคณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติในเรื่องนี้ว่า แม้หนังสือชี้แจงของดาราเดลี่จะยอมรับในความผิดพลาด และลบข่าวดังกล่าวออกจากเว็บไซต์แล้ว แต่ต้องทำหนังสือเตือน เพื่อให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวในโอกาสต่อไป
ต่อมา คณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นด้วยกับคณะทำงานพิจารณาเรื่องร้องเรียน จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังดาราเดลี่ ทั้งนี้ ธรรมนูญสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2563 หมวด 4 การพิจารณาเรื่องร้องเรียน เมื่อคณะกรรมการจริยธรรมได้ตรวจสอบและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการและคู่กรณีทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พิจารณาเสร็จ หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นว่ายังมีพยานหลักฐานหรือเหตุผลอื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา ให้ยื่นคำคัดค้านต่อคณะกรรมการจริยธรรมภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพิจารณา
เมื่อครบกำหนด 20 วันแล้ว ปรากฎว่า ผู้ร้อง รับทราบและพอใจกับการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม ขณะที่ ดาราเดลี่ ผู้ถูกร้อง มิได้มีคำคัดค้านใดๆ คณะกรรมการจริยธรรมจึงนำเสนอผลการพิจารณาและคำวินิจฉัย ให้คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติพิจารณาต่อไป
คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้พิจารณามติและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรม เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ข้อเท็จจริงเพียงพอรับฟังได้ว่า การพาดหัวข่าวของดาราเดลี่ที่ถูกร้องเรียน ละเมิดข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ.2564 ข้อ 5,6 และข้อ 7 จึงมีมติยืนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรม รวมถึงการทำหนังสือเตือนเพื่อให้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวในโอกาสต่อไป
10. การสัมมนา “สื่อมวลชนกับการเสนอข่าวสิทธิมนุษยชนในกระบวนยุติธรรม”
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “สื่อมวลชนกับการเสนอข่าวสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม” แม้ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อจะมีแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพแล้ว แต่ด้วยบริบทแวดล้อมของการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข่าวสารในโลกออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนต้องประสบข้อท้าทายใหม่ ๆ ด้านจริยธรรม เช่น กรณีการเผยแพร่และส่งต่อภาพหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายที่กระทบต่อ “สิทธิที่จะถูกลืม” (Right to be forgotten)
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่นักวิชาชีพสื่อมวลชน บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม บุคลากรในการกู้ชีพ/กู้ภัย นักวิชาการสื่อ และผู้แทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้มาหารือแลกเปลี่ยนกันเพื่อนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในการเสนอข่าวและภาพข่าวอาชญากรรมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
ในการสัมมนานี้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้นำเสนอเรื่อง “หลักการสิทธิมนุษยชน และรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน”สรุปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการนำเสนอข่าวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของสื่อมวลชนหลายกรณีที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตกเป็นข่าวทั้งที่เป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้เสียหาย อันนำไปสู่การถูกตีตราและตัดสินล่วงหน้าโดยสังคม ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินว่าบุคคลนั้น ๆ เป็นผู้มีความผิดและยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมสากลคือ หลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) และยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ และชื่อเสียงของผู้ตกเป็นข่าวรวมทั้งครอบครัวและญาติพี่น้อง และเมื่อเป็นการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ก็ย่อมกระทบต่อสิทธิที่จะถูกลืมจากการที่ข้อมูลยังคงวนเวียนอยู่ในระบบออนไลน์ด้วย นอกจากนี้ปัญหาการนำเสนอข่าวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นเมื่อเป็นกรณีที่มีการเปิดเผยอัตลักษณ์และข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก
กรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ในบริบทแวดล้อมของการสื่อสารยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อในโลกออนไลน์ได้ สื่อมวลชนควรเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนทั่วไปด้วยการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพที่จำเป็นต้องระมัดระวังในการนำเสนอหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารโดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของสังคมโดยรวมอย่างมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อไป
จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ“ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” โดยผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น วิจารณญานในการส่งต่อภาพของเหยื่อหรือผู้ต้องหาให้แก่สื่อมวลชน โดยผู้เข้าถึงเหตุการณ์ในคดีอาชญากรรมเป็นกลุ่มแรก เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือพยานในเหตุการณ์ กับความเหมาะสมและจำเป็นในการใช้ข้อมูลประกอบการปฏิบัติหน้าที่ ความท้าทายของสื่อมวลชนในการปฏิบัติงานตามจริยธรรมวิชาชีพและการนำเสนอข่าวเชิงคุณภาพท่ามกลางความกดดันของการแข่งขันทางธุรกิจ และความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมอันเป็นเหตุให้สื่อมวลชนกลายเป็นผู้นำเสนอข่าวในลักษณะที่ทำหน้าที่พิพากษาผู้ตกเป็นข่าวเอง
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “กรอบจริยธรรมสื่อ และปัญหาจากการนำไปปฏิบัติ”ซึ่งได้นำเสนอตัวอย่างมาตรฐานการบริหารจัดการ คุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมสื่อ หรือ มาตรฐาน ISAS MEDIA 9001 ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์กรวิชาชีพสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีความโปร่งใส และมีกระบวนการทำงานที่เคารพ หลักสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มีผลกำไร นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอกรอบแนวทางการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งควรประกอบด้วยหลักจริยธรรมทั่วไป หลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ และหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ ควรมีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเฉพาะเรื่องเมื่อเป็นกรณีที่มีความคลุมเครือของปัญหาด้วย
11. การประชุมคณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียน 3 สภาวิชาชีพ
เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ในการส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อประสานงานและร่วมกันพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรม ให้การบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนเกิดเป็นรูปธรรม ตอบสนองกระบวนการตรวจสอบจริยธรรมขององค์กรสื่อมวลชนโดยผู้บริโภค อันเป็นการสร้างมาตรฐานกลไกการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม โดยมีการจัดทำแนวปฏิบัติการรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมของ 3 องค์กรวิชาชีพดังกล่าว โดยมีเรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่องค์กรที่ถูกร้องเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งได้ส่งต่อไปยัง 2 สภาวิชาชีพ ซึ่งมีการแจ้งความคืบหน้าการพิจารณาผ่านการประชุมคณะกรรมการประสานงานการรับเรื่องร้องเรียน 3 สภาวิชาชีพ
12. ประกาศเจตนารมณ์ “สิทธิการสื่อสารในสังคมไทย ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา 16”
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้จัดเวที Media Forum #20 ในวาระ 50 ปี “14 ตุลา 2516 กับสิทธิการสื่อสารในสังคมไทย” โดยเจตนารมณ์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมวิชาชีพโดยตรง ระบุว่าสิทธิเสรีภาพสื่อ เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ขอให้รัฐบาล องค์กรกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นหน้าที่ในการคุ้มครอง สนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างตรงไปตรงมา ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงผู้มีบทบาทการสื่อสารในโลกออนไลน์ (Key Opinion Leaders/ Influencers/Content Creators) ยึดมั่นในแนวปฏิบัติเชิงจริยธรรม ในการนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนข้อมูลที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เคร่งครัดแนวทางในการกำกับดูแลตนเอง และกำกับดูแลกันเอง เพื่อธำรงคุณค่าความหมายของเสรีภาพที่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและขอให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อ ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ในการวางแนวทางกำกับดูแลเนื้อหาที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ตามแนวทางของมาตรฐานชุมชน (Community Standard) บนหลักการธำรงสิทธิเสรีภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพื่อลดทอนความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคม
13. เรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สยามพารากอน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนร้องเรียนมาที่ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติระบุว่า ตามที่เกิดเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย โดยเหตุการณ์นี้มีการเผยแพร่และส่งต่อภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นเด็กวัย 14 ปี ภาพที่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคล (บัตรประชาชน) อย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้ก่อเหตุได้อยู่ในความควบคุมของตำรวจโดยสงบแล้ว อีกทั้งยังปรากฏภาพบุคคลในครอบครัวของผู้ก่อเหตุอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์อันอาจนำไปสู่การผลิตซ้ำ ซึ่งถือเป็นการละเมิดซ้ำ หรือเป็นการตีตราอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังจากคนในสังคมได้ โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ผู้ก่อเหตุยังเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเด็กอันพึงต้องได้รับความคุ้มครอง จึงอยากให้มีการตรวจสอบว่ามีการละเลยหรือจงใจทำให้คลิปหลุดออกไปสู่สื่อสังคมออนไลน์ เร่งลบ ยับยั้งคลิปที่หลุด ป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อ หรือคงค้างบนออนไลน์อีกต่อไป รวมถึงมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความเป็นส่วนบุคคลของบุคคลที่ถูกจับกุมในคดีต่างๆ
ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติให้ทำหนังสือชี้แจงสมาคมดังกล่าวให้ทราบว่า ที่ประชุมสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติประจำเดือนตุลาคม 2566 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ได้หารือถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งในห้วงเวลาเกิดเหตุมีข้อห่วงใยจากหน่วยงานต่างๆ จำนวนมากต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ขณะที่สภาการสื่อมวลชนฯ ก็ได้ติดตามเฝ้าระวังการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนพบว่า องค์กรสมาชิกที่สังกัดสภาการสื่อมวลชนฯ ปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ และตามกฎหมายได้อย่างเคร่งครัด มีเพียงสถานีโทรทัศน์บางช่องที่ไม่ได้สังกัดสภาการสื่อมวลชนฯ ที่นำเสนอหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาวิชาชีพที่สถานีโทรทัศน์นั้นสังกัด และกสทช. จะดำเนินการตามกระบวนการต่อไป โดยที่ประชุมมีมติให้แสดงความชื่นชมและขอบคุณสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวนี้ได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ละเมิดกฎหมายและจริยธรรมวิชาชีพอีกด้วย