เสวนา 25 ปีสภาการสื่อฯ ชี้ข้อจำกัดรัฐทำข่าวเจาะยาก หนุนแก้ กม.ฟ้องปิดปาก
เสวนาครบรอบ 25 ปี “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” เลขาฯ ACT ชี้ทำข่าวมีจริยธรรมเกี่ยวเสมอ แต่ข้อจำกัดกฎหมาย ทำสื่อเสนอได้ไม่เต็มที่ หนุนแก้ไขป้องประชาชนถูกฟ้องปิดปาก “บก.ไทยพับลิก้า” เผยการหาข้อมูลปัจจุบันลำบากอย่างยิ่ง “บก.อิศรา” ยันข่าวสืบสวนไม่เคยตาย แต่เปลี่ยนรูปแบบ
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 25 ปี โดยมีการจัดเสวนา “จริยธรรมในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” โดยมี ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกมล ชวาลวิทย์ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวน สำนักข่าว ThaiPublica (ไทยพับลิก้า) และ ดร.มนตรี จุ้ยม่วงศรี บรรณาธิการศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org
ดร.มานะ กล่าวว่า ข่าวเชิงสืบสวนยังสำคัญและจำเป็นมาก โดยการดำเนินงานต่อเนื่องขององค์กรตรวจสอบทุจริต จะอาศัยสารตั้งต้นจากข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน นี่คือเครื่องยืนยันความสำคัญของคนทำข่าวประเภทนี้ โดยข่าวลักษณะนี้ ความสามารถในการอ้างอิง และลำดับข้อมูลที่นำเสนอต่อสาธารณชน มีความน่าเชื่ออย่างมาก ขณะที่การเข้าถึงความจริงที่ประชาชนอาจเคยได้ยิน เคยได้เห็นมาบ้าง ไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริงใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นการอ้างอิง การลำดับข้อมูลน่าสนใจ ทำให้คนเกิดความเชื่อถือมาก ต้องเรียนว่า ตนทำหน้าที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันในองค์กร ACT การนำเสนอข้อมูลออกมาในแต่ละเรื่อง คงมีลักษณะคล้าย ๆ กับผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวเชิงสืบสวน ประสบการณ์แบบนี้จะคล้ายกันในทำนองเดียวกัน
- การทำข่าวต้องมีเรื่องจริยธรรมเกี่ยวเสมอ
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า ข่าวที่นำเสนอแก่สังคมจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือวิธีการได้มาของข่าวและข้อมูล อีกส่วนคือการนำเสนอข้อมูลออกไป ทั้ง 2 ด้านมีประเด็นด้านจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น กรณีที่มีปัญหาด้านจริยธรรมคือ กรณีหลวงปู่แสง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ดังนั้นการนำเสนอข่าวที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ถูกตอบโต้ด้วยกฎหมาย แต่เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ทำข่าว ของแหล่งข่าวด้วย แต่สิ่งที่นำเสนอไปแล้วด้อยจริยธรรม จะเป็นการทำให้ประชาชนมองหรือพุ่งความสนใจในประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ตรงนี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราต้องให้ความสนใจ หากเรานำเสนอแล้ว นำเสนอทำให้ประชาชนมองไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องการเสียโอกาสเพื่อส่วนรวม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดก้าวเดินไปข้างหน้าต่อได้
“ทุกท่านคงเห็นว่าด้วยบทบาทสำคัญขนาดนี้ แต่ไม่มีใครตั้งกฎกติกาควบคุมทุกท่านได้ ไม่มีใครมาตรวจสอบเบื้องหลังจริง ๆ ได้ว่า มีกระบวนการหาข่าวอย่างไร มีวิธีการในการเปิดเผยข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอออกไป ไม่มีใครตรวจสอบได้ ตรงนี้คือความรับผิดชอบ ภายใต้จริยธรรมในใจของตัวท่านเอง ของผู้สื่อข่าวเอง และขององค์กรท่านเอง คำถามจึงต้องตั้งมาช่วยกันถามว่า พวกเราจะใช้อาวุธในมือพวกเราอย่างไร จึงจะเกิดความน่าเชื่อถือของสังคมว่า พวกเรากำลังทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรม” ดร.มานะ กล่าว
- ข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำสื่อเสนอได้ไม่เต็มที่
ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน มีข้อจำกัดเยอะ ในการหาข้อมูล และมีข้อจำกัดอยู่มากที่เราไม่สามารถนำเสนอข่าวสารนั้น ๆ ออกไปนำเสนอประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าด้วยข้อจำกัดข้อมูลที่มี หรือข้อจำกัดทางกฎหมายก็แล้วแต่ เมื่อนำเสนอออกไปไม่ได้ เป็นไปได้หรือไม่เราจะเปิดหน้าต่างอีกบาน เพื่อให้ประชาชนเขาได้ตรวจสอบเรา ได้ประเมินเราเหมือนกันว่า สิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เรามีข้อมูลในมือมันครบถ้วน หรือว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร การตรวจสอบจะได้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น กรณี “บิ๊กป้อม” เรื่องนาฬิกา หรือข้าราชการระดับสูงอื่น ๆ สังคมรับรู้ แต่ไปไม่ถึงไหน ทำอะไรไม่ได้ ป.ป.ช.ทำอะไรได้หรือไม่ นี่เป็นคำถาม ก็ต้องบอกสังคมว่า เรื่องแบบนี้เราท้อไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้ ถ้าหากสังคมมีการติดตามเรื่องพวกนี้ ตั้งประเด็นไว้ จะทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคม ด้านหนึ่งทำให้ ป.ป.ช.แอ็คทีฟทำหน้าที่ว่า สิ่งที่เราเปิดประเด็นคงไม่จบในตัวมันเอง มันทำให้ภาคประชาชนตื่น และทำให้หน่วยงานตรวจสอบตื่นขึ้นมาด้วย
- ชี้ต้องแก้ไขกฎหมาย ป้องประชาชนถูกฟ้องปิดปาก
เลขาธิการ ACT กล่าวว่า สิ่งตามมาคือกฎหมายที่หละหลวมจะต้องถูกแก้ไขโดยตัวของมันเอง มีอีกกรณีหนึ่งเรื่องใหญ่มากในบ้านเราตอนนี้ มีหลายมิติทับซ้อน กรณีรัฐมนตรีเกิดคดีสมัยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) มีปัญหาว่าถูกเอกชนฟ้องไม่จ่ายเงินค่าสินค้า เป็นคดีความถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ประเด็นที่คนควรจะได้รับรู้ว่า ทำไมเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ทำไมขั้นตอนในกระทรวงมหาดไทยถึงไม่ทำอะไร หรือดึงเรื่องให้ล่าช้า ไม่ปลดเขาออกจากตำแหน่งมีเจตนาอะไรเบื้องหลังหรือไม่ ต่อมามีอีกคดีซ้อนมาคือกรณีเอกชนฮั้วประมูล เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สื่อเราควรเปิดหน้าต่างให้ประชาชนรู้ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องอะไรกับการฟ้องปิดปากรูปแบบใหม่หรือไม่
“ตอนนี้ ป.ป.ช.กำลังจะเป็นจำเลยเข้ามาอีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะพูดเรื่องความเป็นธรรม ประโยชน์ส่วนรวม ต้องพูดเรื่องการฟ้องปิดปาก การกลั่นแกล้ง คดีอย่างนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของอำนาจ ถ้ามีการบิดเบือน จะเกิดความเสียหายอย่างมากต่อกระบวนการของคนที่ขับเคลื่อนต่อต้านคอร์รัปชัน” ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวว่า คำพูดว่ายิ่งจริงยิ่งติดคุกนั้น ต้องตอบว่า พูดจริงทั้งหมดไม่ได้ ถ้าพูดไปติดคุกแน่ เพราะข้อมูลของภาครัฐ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะ มันมักเป็นข้อมูลความลับ โดยหลักการของกฎหมายทั่วโลก ใคร ๆ ก็บอกว่า ข้อมูลสาธารณะครอบครองของรัฐ ประชาชนต้องเข้าถึงได้ ถ้าเป็นผลประโยชน์บ้านเมืองต้องพูดได้ แต่ความเป็นจริงตัวกฎหมายมันทำอย่างนั้นไม่ได้ กลไกของกฎหมาย หรืออำนาจของ ป.ป.ช. ปกป้องประชาชน ผู้สื่อข่าว พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะมันถูกครอบงำ ถูกบิดเบี้ยว โดยกฎหมายที่ปกป้องประชาชนถูกดองเอาไว้
“อีกอย่างคือมายา หรือการสร้างวาทกรรมของเรื่องราวที่ออกมาในวันนี้ มันถูกบิดเบือนในแง่มุมของมัน ทำให้คนมองไม่ออกว่า สิ่งเหล่านี้ขัดต่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างไร เช่น การนำเสนอข่าวงบประมาณของกรมการข้าว หรืองบประมาณเกี่ยวกับการทำเมล็ดพันธุ์พืชข้าว ทำไมเยอะจัง บูมมากมหาศาลเพิ่มเป็นสิบ ๆ เท่า จริง ๆ เรื่องที่พูดกันมาปีกว่าแล้ว ความพยายามในการกำหนดนโยบายของรัฐที่จะเปลี่ยนแปลงกลไกตลาดในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จากเดิมส่วนหนึ่งรัฐควบคุม อีกส่วนหนึ่งอยู่ในมือของตลาด ภาคเอกชนที่จะผลิตกัน แต่วันนี้ความพยายามของรัฐคือ ดึงตลาดผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับมาที่กรมการข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อดึงเข้ามือมาแล้ว ผลที่ตามมาคืออะไร นักวิชการเกาะอยู่ แต่ยังมองไม่ออก นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างว่า ข่าวที่เห็นว่าทำไมงบสูง แต่เบื้องหลังคือการเปลี่ยนแปลงกลไกตลาด นำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่มากของประเทศ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน” ดร.มานะ กล่าว
- เผยการหาข้อมูลปัจจุบันลำบากอย่างยิ่ง
ส่วน นายกมล ชวาลวิทย์ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวน สำนักข่าว ThaiPublica กล่าวว่า การทำข่าวของสื่อมวลชน มันจะมีประเด็นเรื่องข้อกฎหมายมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะฉะนั้นมันมีความเสี่ยงสูงมากต้องระมัดระวังในแง่ของการใส่ร้ายใส่ความ นอกจากนี้ข้อมูลก็หาลำบากมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก็กังวลไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เป็นต้น ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลภาครัฐ ไม่ค่อยอัพเดตเท่าไหร่
- ข่าวสืบสวนฯไม่เคยตาย แต่เปลี่ยนรูปแบบ
ขณะที่ ดร.มนตรี จุ้ยม่วงศรี บรรณาธิการศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า ข่าวสืบสวนไม่ได้ลดน้อยลง มันไม่ได้ลดเลย ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ข่าวสืบสวนปัจจุบันมีเยอะมากด้วย ถ้าเป็นเมื่อก่อน ถ้าเราพูดถึงข่าวสืบสวนคือข่าวทุจริต ข่าวตรวจสอบ แต่ปัจจุบันข่าวสืบสวนถูกนำไปใช้กับข่าวชาวบ้านซะเยอะ ต้องตั้งหลักก่อนว่า ข่าวสืบสวนคือข่าวประเภทหนึ่ง คือเน้นกระบวนการ เอกสารหลักฐานมาใช้ยืนยันข้อเท็จจริงในข่าว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถ้าลองถามตัวเอง ดูข่าวตอนเช้า ๆ จะเห็นหลายข่าวเลย เช่น ข่าวนักเรียนเทคนิคยกพวกตีกัน สื่อที่อ่านข่าวนี้บอกว่า ล่าสุดได้ส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไปสัมภาษณ์คนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังตรวจสอบข้อมูลจากกล้องวงจรปิด จริง ๆ กระบวนการทำข่าวทั้งหมดคือการทำข่าวสืบสวน เพียงแต่ประเด็นนำเสนอมันไม่ใช่เรื่องทุจริต มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ผลประโยชน์สาธารณะ แต่ข่าวที่ทำทุกวันนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องทำ เพราะผู้บริหารหลายคนมีนโยบายว่า ทำแล้วคนดูเยอะ เรตติ้งดี
ดร.มนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนข่าวสืบสวนเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชันลดจำนวนลง เพราะมีสื่อไม่กี่แห่งที่ยังทำอยู่ รวมถึงต้องระมัดระวังในการนำเสนอ ต้องใช้เวลาในการรวบรวม จึงไม่เป็นข่าวจำนวนที่เยอะ แต่มันยังเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ โดยข่าวสืสืบสวนยุคนี้มีการเปลี่ยนเนื้อหาออกไป เพราะยุคดิจิตอลทุกคนแย่งกันทำข่าว ตามที่คนพูดกันว่า “เร็วกินช้า ลึกกินตื้น” แต่สื่อที่ทำข่าวทุจริตจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะนอกจากขาข้างหนึ่งอยู่ในคุก การสนับสนุนก็ไม่เยอะ
- ถ้านำเสนอข้อเท็จจริง-ไม่บิดเบือน เป็นเกราะป้องกันถูกฟ้อง
ดร.มนตรี กล่าวว่า ข่าวทุกประเภทเป็นข่าวสืบสวนได้หมด อยู่ที่ว่าเราตั้งข้อเท็จจริงกับมันอย่างไร โดยข่าวสืบสวนเน้นเรื่อง “ทำไม” เป็นสำคัญ จริง ๆ ตนสนใจประเด็นว่า การทำข่าวขาเข้าไปอยู่ในคุก หรือพูดความจริงแล้วตาย เป็นเรื่องที่ได้ยินมาตลอด ถ้าในการนำเสนอข้อมูลด้วย “ข้อเท็จจริง” ต่อสาธารณะ มันจะเป็นเกราะป้องกันได้อย่างชัดเจน จากประสบการณ์จริงตามผู้บริหารไปศาลหลายครั้งคดีที่ถูกฟ้องร้อง ทุกคดีจะหลุดหมด เพราะศาลจะพูดเสมอว่า การทำข่าวสื่อมวลชนถ้าเน้นประโยชน์สาธารณะ และนำเสนอข้อมูลตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน มีคดีหนึ่งเราเอาข้อมูลบริคณห์สนธิมาเปิดเผย ศาลตัดสินว่า ไม่ได้มีความผิด เพราะเราไม่ได้เขียนอะไรผิดจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่เลย หลักการทำข่าว
ดร.มนตรี กล่าวว่า คุณสมบัติการทำข่าวดีมี 3 ส่วนคือ 1.นำเสนอข้อมูลถูกต้องหรือไม่ 2.ให้ความเป็นธรรมหรือไม่ เปิดพื้นที่ให้แหล่งข่าวหรือไม่ 3.นำเสนอตามภววิสัยหรือไม่ ต้องไม่ใส่ความเห็น เป็นต้น ถ้าทำครบตามกระบวนการนี้ถือเป็นข่าวที่ดี ปัญหาทุกอย่างจะลดน้อยลง หรือไม่มีเลยด้วยซ้ำ แต่ปัญหาตอนนี้คือการหาข้อมูลเอกสาร หลักฐาน แต่ในยุคดิจิตอลการเปิดใหม่มีอะไรสวยงามเสมอ เมื่อก่อนเวลาจะทำข่าว นักข่าวต้องพึ่งข้อมูล เช่น แหล่งข่าว เขาจะให้ข้อมูลคุณ ก็ต้องไว้ใจคุณ นอกจากไว้ใจว่าจะไม่เปิดชื่อ ไม่บอกใคร ต้องไว้ใจอีกว่าคุณศักยภาพในการทำได้หรือไม่ อีกกรณีคือนักข่าวหาเอง จริง ๆ สมัยก่อนก็ต้องไปทำหลายอย่าง ลงพื้นที่ แต่ปัจจุบันมีฐานข้อมูลออนไลน์มันเปิดอยู่แล้ว สามารถสืบค้นได้ แต่ไม่เคยครบถ้วนเบ็ดเสร็จ
“สิ่งสำคัญในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ถ้าเราได้ข้อมูล หลักฐานเอกสารชัดเจน ไม่บิดเบือน เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพาดพิงชี้แจงเต็มที่ ผมว่าไม่มีปัญหาในการทำงาน” ดร.มนตรี กล่าว
ดร.มนตรี กล่าวว่า คิดว่าในไทยยังมีคนมีจิตใจไม่เห็นด้วยกับคอร์รัปชัน ช่องทางการให้ข้อมูลเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยน เมื่อก่อนต้องหอบเอกสารมาหาสื่อมวลชน แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยน มีช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย หรือหลายเพจเกิดขึ้น เช่น ต้องแฉ หมาเฝ้าบ้าน ชมรม Strong เป็นต้น รับเรื่องร้องเรียนทุจริตจากชาวบ้าน
ดร.มนตรี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันชาวบ้านเลือกที่จะไม่เข้าหาสื่ออีกแล้ว เช่น ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปเจอเรื่องทุจริต เขาคิดว่าสื่อกระแสหลักไม่สนใจหรอก เขาพยายามส่งให้ ก็ไม่สนใจ อย่างสำนักข่าวอิศราเราก็มีปัญหานี้อยู่เช่นกัน พอเรานำเสนอข่าวทุจริตเยอะ ๆ มันเป็นแบรนด์ ถ้าจะอ่านข่าวทุจริตคุณมาที่นี่ ชาวบ้านก็คาดหวัง ส่งเรื่องเข้ามา ปัจจุบันเป็น 10 เรื่องต่อวัน แต่คนทำงานมี 4-5 คน ทำไม่ทัน เขาจะเริ่มรู้สึกว่า ไม่ส่งเรื่องดีกว่า ไม่มีประโยชน์ แต่จริง ๆ แล้วกระบวนการต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ส่งมาปุ๊บ ลงทุกเรื่อง ต้องเช็คกลั่นกรองก่อน เพราะอาชีพสื่อมวลชนเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ ทำให้เรามีอำนาจในการดำเนินการอะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อใดละทิ้งความน่าเชื่อถือไปแล้ว มันก็ไม่มีผล ในขณะที่หลายเพจเขาทำหน้าที่ของเขา เป็นสารตั้งต้นในการเปิดเรื่องทุจริต และสื่อมวลชน หรือองค์กรตรวจสอบก็หยิบข้อมูลไปใช้ต่อ ทำให้คนเริ่มไปตรงนั้นเยอะ เป็นความหวัง
“ผิดหรือไม่ถ้าสื่อกระแสหลักไม่นำเสนอข่าวสืบสวน ไม่ผิด องค์กรสื่อฝนไม่ได้ตกจากฟ้า เขาก็ต้องทำมาหากิน จะให้เขาเจ๊งหรือไม่ แต่ในนโยบายถ้าแบ่งเปอร์เซ็นให้ชัด เราอยู่ได้ แต่ถ้าไม่ให้พื้นที่ข่าวเลย ประชาชนก็จะไม่คาดหวังแล้ว” ดร.มนตรี กล่าว
- ปัจจุบันคนไม่สนเรื่องเป็นกลาง แต่ทำข่าวต้องยึดข้อเท็จจริง
ดร.มนตรี กล่าวตอบคำถามถึงการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางของสื่อในปัจจุบัน ว่า เรื่องนี้ถ้าเรานำเสนอข่าวฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งมาถล่ม พอเสนอข่าวอีกฝั่งหนึ่ง อีกฝ่ายก็มาถล่ม เขาก็ต่อสู้กันอยู่ในเฟซบุ๊ก มีคนบอกว่า ถ้าคุณทำแบบนั้นได้ แสดงว่าคุณเป็นกลางแล้ว เพราะทุกคนพร้อมจะด่าคุณ ชมคุณ แต่จะบอกว่า การทำข่าวเป็นกลางเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน เพราะสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นกลาง อีกมุมหนึ่งเขาอาจไม่ได้สนใจความเป็นกลาง วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดคือกลับไป Back to basic คือ ยึดข้อเท็จจริง เน้นความถูกต้อง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายชี้แจงพอ ตรงนี้คือเกราะคุ้มกันอยู่แล้ว ส่วนคนจะว่าหรืออะไรเป็นเรื่องที่ห้ามยาก แต่เรารู้ตัวเราก็พอ บทบาทที่ยากสำหรับสื่อคือสุนัขเฝ้าบ้าน ยุคหรือเครื่องมือเปลี่ยนไปอย่างไร เราเป็นอมตะ เราอยู่ได้ตลอด ยุคนี้เราทำงาน เราอยู่ในที่สว่าง ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนนายกมล กล่าวว่า ก็โดนเหมือนกัน ตีกันหน้าเว็บ แต่ขณะเดียวกันมีข้อดี ถ้าเกิดเราเอียง ไปเลือกข้างหรืออะไร มีการเอาข้อมูลขึ้นไปแฉอย่างนี้ เราพังเลยนะ หรือพาดหัวผิด หรือเสนอข่าวผิด
ขณะที่ ดร.มานะ กล่าวว่า ข่าวเชิงสืบสวนที่ 2 สำนักข่าวข้างต้นทำ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่องค์กร ACT จะหยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมาทำต่อสักเรื่องหนึ่ง ถ้าเราไปจับข่าว จากประเด็นที่ไม่มีแหล่งข้อมูลเพียงพอ ไม่มีข้อมูลตั้งต้นเพียงพอ เป็นเรื่องยากเกินกำลัง แต่ถ้าได้ข้อมูลว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง และทำงานส่งต่อให้เครือข่ายต่าง ๆ ทำงานต่อ เป็นอะไรที่ใช้ในการต่อยอดทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่เราไม่ได้รับจากข่าวที่เขาเผยแพร่อย่างเดียว แต่สิ่งที่ได้เห็น และเป็นประโยชน์มากคือ การที่ข่าวเริ่มต้นจากภาคประชาชน สื่อหลัก ๆ มีการนำไปเผยแพร่ และขยายผลลึกกว่า มากกว่าสิ่งที่พวกเราทำได้ นี่เป็นศักยภาพที่หน่วยงานเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่างเราอยากเห็นและต้องการ เราไม่มีศักยภาพ ทั้งหมดที่ออกมา สุดท้ายคือผลประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง