ประกาศ 'สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ' แนะองค์กรสื่อ 6 ข้อ เสนอข่าวฉีดวัคซีนป้องกัน 'โควิด'
อ่านประกาศ "สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ" แนะองค์กรสื่อ 6 ข้อ เสนอข่าวฉีดวัคซีนป้องกัน "โควิด-19"
วันที่ 15 พ.ค. สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ออกประกาศประกาศสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2564 เรื่อง "ข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19" มีเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้รัฐบาลต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสดังกล่าว ให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้นโดยเร็ว และจำกัดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนแล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยรวมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการระดมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในและต่างประเทศ พบว่า เกิดผลข้างเคียง หรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ในผู้ที่ได้รับฉีดบางส่วน แต่วงการแพทย์แล สาธารณสุขทั่วโลกต่างมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การนำเสนอข่าวเรื่องวัคซีน โดยเฉพาะผลข้างเคียงต่อผู้รับการฉีดของสื่อมวลชนในประเทศไทย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการนำเสนอข่าวในเชิงผลกระทบด้านลบของการฉีดวัคซีนอย่างไม่ครบถ้วนรอบด้าน จนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด จนนำไปสู่ความหวาดกลัวของประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลเสียหายต่อประเทศในระยะยาว
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยคณะกรรมการจริยธรรม ได้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 มาพิจารณา เพื่อออกข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังต่อไปนี้
1. สื่อมวลชนควรต้องนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบของวัคซีนอย่างรอบด้าน ไม่ใส่ความรู้สึกหรือความคิดเห็นลงในข่าว โดยไม่ละเลยการนำเสนอผลกระทบต่อประชาชน แต่ระมัดระวังการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของข่าว
2. สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนตามข้อเท็จจริง โดยย้ำถึงข้อมูลภาพรวมที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในเชิงสัดส่วนของผู้ได้รับการฉีดทั้งหมดในประเทศไทย หรือ ต่างประเทศ เพื่อไม่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจนเกินกว่าเหตุ
3. สื่อมวลชนต้องระมัดระวังการพาดหัวข่าวที่เร้าอารมณ์เพื่อเรียกความสนใจ แต่ไม่ตรงกับเนื้อหาข่าวจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ควรใช้ถ้อยคำที่รัดกุม รอบคอบและสะท้อนสาระสำคัญของข่าว
4. สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าว โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดจากข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านรูปแบบของอินโฟกราฟิก
5. สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวและภาพข่าวด้วยความถูกต้องมากกว่าความเร็ว และเมื่อพบความผิดพลาดเกิดขึ้นต้องแก้ไขทันทีในทุกช่องทางที่ได้นำเสนอไปแล้ว
6. สื่อมวลชนพึงนำเสนอข่าว โดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนและรอบด้าน แต่ต้องระวังการใช้ภาษาทางการแพทย์ที่เป็นภาษาในเชิงเทคนิคมากเกินไปจนอาจทำให้ประชาชนสับสน โดยต้องนำเสนอข่าวโดยเน้นภาษาที่ง่าย ชัดเจนและไม่คลุมเครือ
นอกจากนี้ ในการนำเสนอข่าวและภาพข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภาพรวมนั้น สื่อมวลชนยังต้องยึดมั่นในแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำขึ้นก่อนหน้านี้อีกด้วย
คณะกรรมการจริยธรรม
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
15 พฤษภาคม 2564