กอนช. คาด ภาคใต้กลับสู่สภาวะปกติสัปดาห์นี้ เผยไทยยังประสบเอลนีโญกำลังแรง
กอนช. ชี้สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้คลี่คลายแล้ว ยังเหลือน้ำล้นตลิ่ง ใน จ .ปัตตานี คาดกลับเข้าสู่สภาวะปกติสัปดาห์นี้ เผยไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรง เฝ้าระวังแหล่งน้ำน้ำน้อย 96 แห่งทั่วประเทศ เร่งทำงานเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงแล้งเพื่อไม่ให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
วันนี้ (4 ม.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยผลการกระชุมว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 66 – 3 ม.ค. 67 บริเวณภาคใต้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ในภาพรวมคลี่คลายลงแล้ว คงเหลือพื้นที่ที่มีน้ำล้นตลิ่ง 1 จุด คือ บริเวณบ้านบริดอ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ซึ่งคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติภายในช่วง 2-3 วันนี้ โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ได้บูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้ได้มีการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางลง ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านแม่น้ำปัตตานีเข้าสู่บริเวณพื้นที่บ้านบริดอ
พร้อมกันนี้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงเหล่าทัพ ได้เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง โดยเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่และฟื้นฟูที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย พร้อมกันนี้ ได้มีการเตรียมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า เนื่องจากในระยะนี้ภาคใต้ยังมีแนวโน้มมีปริมาณฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากอย่างใกล้ชิด โดยในพื้นที่ภาคใต้มีอ่างฯขนาดกลางเฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 19 แห่ง โดยแบ่งเป็น อ่างฯ เฝ้าระวังน้ำเกินความจุ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองแห้ง จ.กระบี่ และอ่างฯเฝ้าระวังน้ำ 80-100% ของความจุ อีก 19 แห่ง อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยืนยันว่า อ่างฯ ทุกแห่งยังมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 61,297 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 74% ของความจุรวม โดยเป็นน้ำใช้การ 37,085 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 64% ของความจุน้ำใช้การ โดยปัจจุบันประเทศไทยยังเผชิญกับสภาวะเอลนีโญกำลังแรง ส่งผลให้พื้นที่ตอนบนของประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน มีปริมาณฝนน้อยจนถึงไม่มีเลย ขณะเดียวกัน การใช้น้ำตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้งที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เริ่มมีจำนวนลดน้อยลง ซึ่งจากการประเมินแหล่งน้ำขนาดใหญ่-ขนาดกลาง พบว่า มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 96 แห่ง โดยเป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างฯสิริกิติ์ อ่างฯกระเสียว และอ่างฯคลองสียัด ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่
“ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขตชลประทานยังคงไม่น่ากังวลมากนัก แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และวางแผนลงพื้นที่เพื่อสำรวจวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ และเร่งหาแนวทางแก้ไขเบื้องต้น โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วในหลายจังหวัด อาทิ จ.สุโขทัย จ.พิจิตร จ.ชัยนาท จ.อุทัยธานี จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น โดยมีการสำรวจแหล่งน้ำผิวดินในบริเวณใกล้เคียงเพื่อสูบเติมน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย โดยเฉพาะแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และในสัปดาห์นี้จะมีการลงพื้นที่เพิ่มเติมใน จ.กาญจนบุรี จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ตามแผนที่วางไว้ต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ใดที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งข้อมูลเข้ามายัง สทนช. ภาค 1-4 หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อ สทนช. จะได้บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ เข้าช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นไปตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาได้มีแผนการสูบผันน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำรองรับได้เพียงพอจนถึงช่วงเดือน มิ.ย. 67 ซึ่งการดำเนินการก็เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ในขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า ปัจจุบันมีการเพาะปลูกเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้เล็กน้อย ในวันนี้จึงมอบหมายให้กรมชลประทานพิจารณาแนวทางบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดความสมดุล รวมถึงสร้างความเข้าใจกับประชาชนเพิ่มเติม พร้อมกันนี้ได้มอบหมายกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ในการคาดการณ์ทิศทางปริมาณฝนและปริมาณน้ำในปี 2567 ในลักษณะเทียบเคียงกับปีที่ผ่าน ๆ มา โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวมาร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำในปีนี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สภาวะเอลนีโญในประเทศไทยมีโอกาสประมาณ 60% ที่จะกลับเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 67 นี้