โรงงานพลุระเบิด สุพรรณบุรี ขออนุญาตถูกต้อง กำชับตรวจ รง.ผลิตพลุ หวั่นซ้ำรอย
อธิบดีกรมการปกครอง ยันโรงงานพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี มีใบอนุญาตถูกต้อง กำชับลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน หวั่นซ้ำรอย ตั้งข้อสังเกตทำไมคนไปรวมตัวเยอะ พร้อมตั้งกองทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตร เยียวยา
วันนี้ (18 ม.ค. 67) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึงการตรวจสอบใบอนุญาตโรงงานพลุที่เกิดเหตุระเบิดจังหวัดสุพรรณบุรี ว่า ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2564 และต่อใบอนุญาตทุกปี โดยผ่านการอนุมัติจากนายอำเภอเมือง สุพรรณบุรี หลังผ่านหลักเกณฑ์ อาทิ ผู้ขออนุญาตไม่มีประวัติอาชญากรรม สถานที่ตั้งโรงงานเป็นไปตามระเบียบของกฎหมายผังเมือง รวมถึงผ่านการทำประชาคมจากชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ กรุงเทพฯ ตนได้ให้ตรวจสอบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
“ส่วนสาเหตุพลุระเบิดนั้น ยังไม่ทราบ แต่ขณะนี้มีการยืนยันแล้วว่ามีผู้เสียชีวิต 23 คน และล่าสุดเมื่อเช้าพบเพิ่มอีก 2 คน แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ โดยเช้าวันนี้ทางนิติวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อนนำร่างไปพิสูจน์อัตลักษณ์ พร้อมย้ำว่า การตั้งโรงงานดังกล่าวได้รับการอนุญาตถูกต้อง และได้กำชับแล้ว หลังเกิดเหตุพลุระเบิดที่ บ้านมูโนะ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตลอด” อธิบดีกรมการปกครอง กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าเหตุการณ์ระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรีจะเอาผิดทางกฎหมายผู้ใด นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า ต้องขอตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงก่อน ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุต้นเหตุข้อเท็จจริงได้
ส่วนกรณีที่โรงงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุระเบิดแล้วเมื่อปี 2565 และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุใดจึงได้รับการอนุญาตตั้งโรงงาน อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า การได้รับอนุญาตจะต้องขอพื้นที่และทำประชาชนรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ โดยทั้งหมดผ่านกระบวนการแล้ว ฉะนั้นขอให้ทางเจ้าหน้าที่ EOD ตรวจสอบหาสาเหตุก่อน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงมีคนไปรวมตัวภายในโรงงานดังกล่าวเยอะ 23-25 คน ซึ่งไม่รู้ว่ามีงานเลี้ยงหรืออะไรหรือไม่ก่อนเกิดเหตุ
“หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยห่วงใยและสั่งการจังหวัดให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา นอกเหนือหน่วยงานกระทรวงอื่นด้วย ส่วนที่สังคมมีการตั้งคำถามว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตน้อยไปหรือไม่ จะหาหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นผู้ใหญ่และมีบุตรที่ต้องศึกษาเล่าเรียน ต้องดูว่าจะตั้งกองทุนมาดูแลหรือไม่ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีรับไปพิจารณาแล้ว” นายอรรษิษฐ์ กล่าว
สำหรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นประกอบด้วย
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม กรณีฉุกเฉิน ครอบครัวละ 3,000 บาท
- ราชประชานุเคราะห์ฯ มีค่าทำศพ 10,000 บาท
- กระทรวงแรงงาน โดยหน่วยงานจัดหางาน คุ้มครองแรงงาน ผู้ประกันตนและผู้ขึ้นทะเบียน จะช่วยเหลือด้วย
- กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี แบ่งเงินช่วยเหลือดังนี้
- ค่าจัดการศพ 50,000
- ทุนเลี้ยงชีพครอบครัว 30,000
- มีบุตรไม่เกิน 25 ปี ได้อีก 50,000
- ทุนเลี้ยงชีพ กรณีบาดเจ็บสาหัส 30,000+ เลี้ยงชีพ 15,000
- กระทรวงยุติธรรม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2559 โดยอยู่ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (ผู้ว่าฯ เป็นประธาน) พิจารณาช่วยเหลือรายละไม่เกิน 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฯ
- ท้องถิ่น (ประกาศภัย) 29,700 ส่วนถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว จะได้เพิ่มอีกเท่านึง (59,400)