'เบนซ์ เรซซิ่ง' ยื่นขอเยียวยา หลังถูกจำคุกเกินเวลารับโทษจริง
"เบนซ์ เรซซิ่ง" ยื่นขอเยียวยา หลังถูกจำคุกเกินเวลารับโทษจริง เสนอกรมราชทัณฑ์ แยกผู้ต้องขังยังไม่ถึงที่สุดเพื่อป้องกันเสียสิทธิ์ รวมถึงปรับสภาพลดแออัดเรือนจำ
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือ "เบนซ์ เรซซิ่ง" ได้เดินทางเข้าพบ นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 เพื่อยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 จากกรณีที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกินจำนวนวันที่ต้องรับโทษจริงไป 256 วัน
โดย นายอัครกิตติ์ กล่าวว่า วันนี้มายื่นเรื่องเพื่อขอรับสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ แม้เงินจะไม่ได้มีจำนวนมาก แต่ต้องการมาใช้สิทธิ์ของตนเอง เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้อื่นที่อยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับตน ว่าจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ส่วนตัวยังได้ขอคำปรึกษาจาก นายกองตรี ธนกฤต กรณีขอให้กรมราชทัณฑ์ แยกการคุมขังของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณา และผู้ต้องขังตามคำพิพากษาออกจากกัน เพราะถ้าคดียังไม่สิ้นสุด ยังถือว่าผู้ต้องขังยังเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะจากประสบการณ์ในฐานะที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ จึงอยากเป็นกระบอกเสียงตัวแทนแก่ผู้ต้องขัง
"อยากให้มีการแยกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีออกมา เพราะเห็นว่าได้รับการปฏิบัติเหมือนเช่นผู้ต้องขังตามคำพิพากษา จึงทำให้ส่งผลกระทบในหลายด้าน ทำให้สูญเสียสิทธิบางอย่าง เช่น การเยี่ยมญาติ , การทำเอกสารเพื่อสูคดี และการพบทนายความ อย่างการเยี่ยมญาตินั้นจะได้รับโอกาสเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละ 20 นาที เท่ากับปีละ 16 ชั่วโมงเท่านั้น เช่นเดียวกับนักโทษเด็ดขาด ทำให้สูญเสียโอกาสจนอาจถึงแพ้คดีได้" นายอัครกิตติ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 276,466 คน ในจำนวนนั้นมีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี 54,530 คน คิดเป็นร้อยละ 19.724 จึงอยากให้แยกผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีออกมา เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่สมควรจะได้
นอกจากนี้ อยากเสนอให้แก้ปัญหาเรื่องความแออัดภายในเรือนจำ เพราะจากประสบการณ์ตนเอง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ มีความยากลำบากเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนผู้ต้องขังที่แออัด นอนลำบาก , เข้าห้องน้ำลำบาก , อาบน้ำลำบาก และกินอยู่ลำบาก ซึ่งการปล่อยตัวชั่วคราว น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ด้านนายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า จะนำเรื่องที่นายอัครกิตติ์ ขอเงินเยียวยาส่งให้กับกรมคุ้มครองสิทธิ์ และเสรีภาพพิจารณาต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถยื่นเรื่องได้ภายใน 1 ปี หลังจากมีคำสั่งให้ปล่อยตัว และยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่มีจำเลยในคดีมาเรียกร้องขอรับเงินเยียวยา เพราะถูกขังเกินวันของการรับโทษจริง เพราะที่ผ่านมามีแต่เหยื่อที่เป็นแพะมาขอรับเงินเยียวยา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ คาดว่าจะทราบผลภายใน 1 เดือน
"ถ้าหากได้รับการอนุมัติ โดยเบื้องต้นนายอัครกิตติ์ จะได้รับเงินเยียวยา 2 ส่วน คือ ได้จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพวันละ 365 บาท เนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร และได้รับเงินเยียวยาจากกรมราชทัณฑ์วันละ 500 บาท ซึ่งแต่ละพื้นที่จังหวัด จะได้รับเงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับภูมิลำเนาของผู้ร้อง" นายกองตรี ธนกฤต กล่าว
ส่วนกรณีที่อยากให้มีการแยกผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีออกจากผู้ต้องขังตามคำพิพากษา โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วย เพราะยังไม่ถือว่าเป็นนักโทษเด็ดขาด ควรได้รับสิทธิ์ที่แตกต่างกัน อีกทั้ง ยังเห็นว่าอยากให้มีการแยกผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีการเมืองออกมาด้วย ซึ่งจะให้ฝ่ายกฎหมายของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 นำไปพิจารณาเพื่อยื่นต่อกระทรวงยุติธรรมต่อไป
สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง นายอัครกิตติ์ ในข้อหาสมคบค้ายาเสพติด เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่มีความผิดในข้อหาฟอกเงิน จึงพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 4 เดือน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่เนื่องจากนายอัครกิตติ์ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมากว่า 4 ปี เกินจำนวนวันที่ต้องรับโทษจริง จึงต้องได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวด้วย