มช. นำทัพ อาจารย์ นักวิจัย คว้า 7 รางวัลการวิจัยแห่งชาติ 'วันนักประดิษฐ์ 2567'
อาจารย์นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับ 7 รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ”
โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานและพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ นิทรรศการรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากหน่วยงานเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ มหกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ IPITEx 2024 นิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน Thailand New Gen Inventors Award 2024: I-New Gen Award 2024
การจัดงานครั้งนี้มีการจัดแสดงบูธงานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี และรองศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่อาจารย์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติอีกด้วย
ในปีนี้อาจารย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลทั้งหมด 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 7 รางวัล ดังนี้
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 1 ท่าน
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (สาขาสังคมวิทยา) ศาสตราจารย์ ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี สังกัดคณะสังคมศาสตร์
รางวัลผลงานวิจัย 1 รางวัล
รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี (สาขาการศึกษา) รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข และคณะผู้วิจัย สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ ผลงานเรื่อง “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบในการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และครูผู้ช่วย โดยอิงสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดของเด็กปฐมวัยตามแนวทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่”
รางวัลวิทยานิพนธ์ 3 รางวัล
- รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) ดร.ทันตแพทย์หญิงนภัสสร อิ่มเอิบ สังกัดคณะทันตแพทยศาสตร์ ผลงานเรื่อง “ผลของความชราและภาวะอ้วนต่อการปรับแต่งกระดูกและผลของออกซิเจนบำบัดต่อการปรับแต่งกระดูกในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความชราด้วยน้ำตาลดีกาแล็กโทสที่มีและไม่มีภาวะอ้วน”
- รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก (สาขาเกษตรและชีววิทยา) ดร.ธัญมาส กันธวัง สังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ ผลงานเรื่อง “การผลิตชุดทดสอบโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้างเอเชียด้วยวิธีอิมมูโนอัฟฟินิตีโครมาโตกราฟ”
- รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นวพร นาคหฤทัย สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ผลงานเรื่อง “กระบวนการแก้ปัญหากำหนดการเชิงเส้นสำหรับการคาดการณ์อย่างต่ำ”
รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น 2 รางวัล
- ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี (สาขาเกษตรและชีววิทยา) ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง และ ดร.บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี สังกัดศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยที่เพิ่มผลผลิตและคุณภาพชีวิตชาวนาไทย”
- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี (สาขาสังคมวิทยา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงแข บุตรกูล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ นักวิจัยร่วม ดร.เสวต อินทรศิริ, ดร.อนุชา รักสันติ สังกัดสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ และ ศ.ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ, ผศ.ดร.อุดมรัตน์ ทิพวรรณ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมฝังไอออนอบอ่อนอัญมณีสีเขียวสรรสร้างคุณค่าเครื่องประดับอัตลักษณ์นครเวียงโกศัย”