เช็กด่วน! ปภ. เตือน 30 จังหวัด เตรียมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง 9-13 ก.พ.67
ปภ. แจ้ง 30 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน-ภาคกลาง เฝ้าระวังพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ส่วน ภาคใต้ 4 จังหวัดเตือนคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 9-13 ก.พ.67
วันนี้ (8 ก.พ. 67) เวลา 10.45 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 30 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ เฝ้าระวังสถานการณ์ ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง
ส่วน พื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ให้เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 9-13 ก.พ.67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (24/2567) ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง และอาจเกิดฟ้าผ่า จากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณตอนบนของภาค ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 -3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และคลื่นลมแรง ในช่วงระหว่างวันที่ 9 - 13 กุมภาพันธ์ 2567 แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ประกอบด้วย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง 25 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ประกอบด้วย
- ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร) สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ เทพา) ปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี ไม้แก่น) และนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส ตากใบ)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 34 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
สำหรับพื้นที่สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ1784 โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 (ตลอด 24 ชั่วโมง) เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป