ไฟป่าเชียงใหม่วิกฤต ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่ง
สถานการณ์ไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น ทำค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง ล่าสุดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ปรับแผนระดมกำลังดับไฟแบบไฟชนไฟ และใช้อากาศยานในการดับไฟ
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฮลิคอปเตอร์ ka-32 หรือ ปักเป้า สีส้ม ยังคง โปรยน้ำดับไฟในพื้นที่ อำเภอโซนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ หลังเกิดไฟป่าขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้ ค่าฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ พุ่งสูงขึ้น โดยข้อมูลของแอปพลิเคชัน Air4Thai ของ กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ เกินค่ามาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้ง 6 สถานีตรวจวัด อยู่ในระดับสีส้ม สูงสุดที่สถานีตรวจวัด ตำบลศรีภูมิ วัดได้ 45.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2567 ณ 07:00 น สรุปดังนี้
ภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.กาญจนบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.เลย และ จ. นครราชสีมา
- ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 31.6 - 99.9 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 10.4 - 39.2 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 23.9 - 55.9 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 21.3 - 46.9 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12.5 - 29.2 มคก./ลบ.ม.
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ตรวจวัดได้ 19.8 - 37.2 มคก./ลบ.ม.
จากการตรวจ จุดความร้อน ในจังหวัดเชียงใหม่ พบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีก 134 จุด กระจายอยู่ใน 14 อำเภอจากทั้งหมด 25 อำเภอ พบที่อำเภอแม่แจ่ม มากที่สุด 36 จุด รองลงมาคืออำเภอฮอด 22 จุด และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยที่อำเภอแม่แจ่มเกิดไฟป่าลุกลามหลายพื้นที่ขยายวงกว้างต่อเนื่องมาหลายวัน ทั้งในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่โถ บางจุดยังไม่สามารถดับได้
สาเหตุมาจากชาวบ้านลักลอบเผาป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ และบางส่วนลุกลามมาจากพื้นที่ที่บริหารจัดการเชื้อเพลิงชิงเผา และมีผู้ไม่หวังดีเข้าไปลักลอบจุดไฟเผาป่าเพิ่มและลุกลามออกไป ด้วยสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นป่าเต็งรังที่ผลัดใบไม้แห้งลงมากองทับถมอยู่บนพื้นดินจำนวนมาก ทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงและหน้าผาทำให้ยากต่อการเข้าดับไฟ ส่วนที่ตำบลกองแขก เป็นการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่ของชาวบ้านที่หลุดรอดแนวกันไฟออกไป และไหม้ลุกลามอย่างหนักข้ามเขาหลายลูก มีพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านวอดเสียหายไปหลายไร่ เนื่องจากในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มไม่มีแหล่งน้ำที่ให้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำขึ้นมาโปรยน้ำดับไฟได้
นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ปรับแผนระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติแม่โถ และสถานีไฟป่าแม่โถ ที่ตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ 60 นาย ใช้วิธีการดับไฟแบบไฟชนไฟ หรือที่เรียกว่า แนวไฟเผากลับ โดยทำแนวกันไฟไว้แล้วจุดไฟสวนทางกลับไปหาแนวไฟป่า เมื่อไฟไปบรรจบกันไฟจริงจะดับลงเนื่องจากขาดเชื้อเพลิง ขณะเดียวกัน ยังมีการเสริมกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 3 โดยกรมทหารพรานที่ 35 ออกลาดตระเวนป้องปรามการลักลอบจุดไฟเผาป่าเพิ่มอีก รวมถึงสำรวจการเกิดไฟเพื่อจะได้ดับไฟได้อย่างรวดเร็ว