NARIT เผยภาพปรากฏการณ์ ดาวตก Fire ball บนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือหอดูดาว

NARIT เผยภาพปรากฏการณ์ ดาวตก Fire ball บนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือหอดูดาว

NARIT เผยภาพปรากฏการณ์ "ดาวตก" Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ( ​​​​​สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เผยแพร่ภาพจาก sky camera หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยระบุว่า

ดาวตก หัวค่ำวันนี้ (6 มี.ค. 67) เวลาประมาณทุ่มกว่า ปรากฏ Fire ball สว่างวาบบนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือหอดูดาวภูมิภาคฉะเชิงเทรา (เส้นสีขาว บริเวณล่างขวาของภาพ)

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าคล้ายดาวตก 2 ครั้ง ติดต่อกัน ครั้งแรกเวลาประมาณ 19:13 น. ปรากฏเป็นทางยาวพาดผ่านท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนหัวมีสีฟ้า ส่วนหางมีสีเขียว ขณะเดียวกันได้แตกออกเป็น 2-3 ส่วน ส่วนหัวมีสีส้ม หางสีเขียว จากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมงถัดมา ปรากฏขึ้นอีกครั้งเวลาประมาณ 20:21 น. มีสีส้ม พบเห็นแต่ละครั้งนานประมาณ 10 วินาที

เหตุการณ์ครั้งนี้พบเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในหลายจังหวัดกระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคของไทย อาทิ ราชบุรีเพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อยุธยา ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีลพบุรี นครสรรค์ ศรีสะเกษ ชุมพร บุรีรัมย์ ชลบุรี สมุทรสาคร นครปฐม นครนายก ระยอง ชัยภูมิ เชียงใหม่ เป็นต้น 

NARIT เผยภาพปรากฏการณ์ ดาวตก Fire ball บนท้องฟ้าเป็นทางยาวเหนือหอดูดาว

จากข้อมูลดังกล่าวคาดว่าอาจเป็นดาวตกชนิดระเบิด ซึ่งเกิดจากวัตถุท้องฟ้าขนาดเล็ก เช่นดาวเคราะห์น้อย หรือเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร เป็นต้น เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้จึงมองเห็นเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ที่เราเรียกว่า ดาวตก  

กรณีที่เศษชิ้นส่วนมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่า ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวตกในครั้งนี้ยังปรากฏสีที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งสีเขียว สีฟ้า สีส้ม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี โมเลกุลของอากาศโดยรอบ ขณะพุ่งเข้าชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน 

ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ และสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ก่อนหน้านี้ ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการ สดร.ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "ดาวตก" ว่า เกิดจากเศษชิ้นส่วนของวัตถุในอวกาศ เช่น ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกแล้วเกิดการลุกไหม้ ปกติเรามักจะใช้คำว่า "เสียดสี" กับชั้นบรรยากาศโลก แต่แท้จริงแล้วการลุกไหม้ของวัตถุนั้น เกิดจากการบีบอัดอากาศเสียจนมีอุณหภูมิสูงจนลุกเป็นไฟ แล้วเผาไหม้วัตถุไปในที่สุด ในแต่ละวันนั้นจะมีดาวตกประมาณหนึ่งล้านดวงตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลกเรา แต่ครึ่งหนึ่งตกมาในเวลากลางวันที่สังเกตได้ยาก และที่เหลือส่วนมากก็ตกลงในทะเล หรือพื้นที่ห่างไกลไม่มีคนสังเกตเห็น

 

วิธีสังเกต ดาวตก

ดาวตก นั้นเผาไหม้จากความเร็วที่ตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลก จึงมีการเคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดในบรรดาวัตถุที่กล่าวมานี้ แม้ว่าในภาพนิ่งแล้ว ดาวตก ดาวหาง และจรวด จะปรากฏ "หาง" ด้วยกันทั้งหมด แต่ดาวตกโดยทั่วไปนั้นจะกินเวลาเพียงประมาณไม่กี่วินาทีจนถึงเสี้ยววินาที เว้นเสียแต่เป็นดาวตกที่ลูกใหญ่มาก ๆ หากไม่ได้มีการสังเกตการณ์ท้องฟ้า ณ ตำแหน่งนั้นเอาไว้อยู่แล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหันกล้องไปบันทึกภาพได้ทัน ด้วยเหตุนี้ ดาวตกจึงมักจะถูกบันทึกโดยกล้องวงจรปิด กล้อง dashcam หน้ารถ หรือกล้องที่ถ่ายภาพต่อเนื่อง หากเป็นภาพนิ่งก็มักจะเกิดขึ้นโดยบังเอิญกับคนที่ถ่ายภาพอื่นอยู่แล้ว ดังนั้นหากเห็นภาพเป็นวิดีโอที่มีจุดสว่างลุกวาบขึ้นมาก่อนที่จะหายไป ความเป็นไปได้มากที่สุดจึงเป็นดาวตก ซึ่งรวมไปถึงขยะอวกาศที่เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศด้วย